Wednesday 11 December 2013

"3....2....1...วาด!!!"

"3....2....1...วาด!!!"
เมื่อสิ้นเสียงของผม ผู้เข้าแข่งขันสิบคนทั้งเด็กตัวเล็กจวบจนผู้ใหญ่ตัวโตพร้อมใจกันคว้าดินสอ สีไม้ ปากกา และแท่งชาโคล ขึ้นละเลงบนกระดาษขาวที่ถูกเตรียมไว้บนขาตั้งกระดานวาดรูปของแต่ละคนอย่างตื่นเต้น  บางคนขะมักเขม้นใส่ใจอยู่กับผลงานของตัวเอง  อีกหลายคนแอบชำเลืองมองรูปของคนข้างๆพลางหัวเราะติชมกันไปมาอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางสายตาของคนที่ผ่านไปมา ในห้องโถงใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ Victoria&Albert หรือ the V&A... ทำเอาตัวผมเองที่ยืนอยู่บนเวทียังไม่อยากจะเชื่อสายตาตัวเอง ว่าบรรยากาศเจี๊ยวจ๊าวและมีชีวิตชีวาขนาดนี้ จะเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ระดับชาติที่มีประวัติยาวนานย้อนไปถึงปี 1851

ความเด็ดของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มกันตั้งแต่ชื่อ ที่ตั้งเพื่อเป็นเกียรติกับเจ้าชายAlbertและพระราชินีVictoria ผู้สนับสนุนอุดมการณ์ให้ศิลปะและงานออกแบบเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้จากชนชั้นทำงาน (สวนกระแสของพิพิธภัณฑ์ที่โด่งดังในขณะนั้นซึ่งแสดงแต่ศิลปะของชนชั้นสูง เช่น National Gallery) และใช้ความรู้เป็นแรงผลักดันวงการอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีคอลเล็คชั่นศิลปะและงานออกแบบอันมโหฬารประกอบด้วยสิ่งของและโบราณวัตถุกว่า4.5ล้านชิ้น จากตลอดช่วงเวลาในประวัตศาสตร์กว่า5,000ปี และที่เจ๋งที่สุดคือมีกิจกรรมการเรียนรู้ดีๆให้เข้าร่วมฟรีตลอดศก จึงไม่แปลกที่สถานที่แห่งนี้จะได้จัดอยู่ในลำดับต้นๆของ “หนึ่งร้อยพิพิธภัณฑ์ที่ต้องไปดูก่อนตาย”* และทำให้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรช่วยจัดอบรมเชิงปฎิบัติการ ร่วมกับศิลปินสาวไฟแรง Alexa Galea เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม V&A Summer camp ที่จะมีขึ้นในฤดูร้อนของทุกปี


ในปีนี้มีการแบ่งประเภทของกิจกรรมเป็นสามหัวข้อ คือ Idea ที่ครอบคลุมหลากหลายการสัมนา,  Make เป็นกิจกรรมประกอบนิทรรศการว่าด้วยพลังของงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ และสุดท้าย Design ที่มีเวิร์คช็อปสนุกๆให้ผู้เยี่ยมชมได้ลงมือออกแบบโดยใช้ประติมากรรมและจิตรกรรม จากในพิพิธภัณฑ์เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่่งหนึ่งในนั้นก็คือกิจกรรม Speed Drawing ของพวกเรานั้นเอง มีกติกาง่ายๆ คือ ให้ผู้เข้าแข่งขันสิบคนวาดรูปด้วยอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ให้ ภายในเวลาแค่สองนาที! ส่วนสิ่งที่นำมาเป็นแบบให้วาดก็คือ ถ้วย โถ รูปปั้น และสิ่งของต่างๆในพิพิธภัณฑ์นั่นเอง และใครที่สามารถ“เล่าเรื่อง”ด้วยรูปสิ่งของเหล่านี้ได้ดีที่สุด(ไม่จำเป็นต้องสวย)ในรอบนั้น จะได้รับรางวัลเป็นตั๋วเข้าชมนิทรรศการหมุนเวียนของ V&A ฟรี  แต่เอาเข้าจริงๆคนส่วนมากที่เข้ามาต่อคิวก็ไม่ได้หวังเรื่องแพ้ชนะ แค่อยากมาเล่นเพราะว่ามันดูสนุกเท่านั้นเอง
บรรยากาศโดยรวมจึงไม่เครียดและเป็นกันเองตลอดวัน เริ่มตั้งแต่ตอนเช้า เราประกอบเวทีเล็กๆและจอฉายขึ้นในโถงใหญ่ ภายใต้การดูแลของภัณฑารักษณ์ที่มาแนะบริเวณกิจกรรมเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการทำงานศิลปะเสียหาย จนสุดท้ายได้วางขาตั้งวาดรูปสิบชิ้น พร้อมอุปกรณ์ เคียงข้าง อนุเสาวรีย์แด่ Emily Georgiana และ รูปแกะสลักของCharles Pelham ซึ่งทั้งคู่เป็นรูปปั้นหินอ่อนอายุกว่า 160ปี เราสองคนจึงต้องแบ่งหน้าที่กันดูแลเหล่าผู้คนและเหล่ารูปปั้นไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้ในบางช่วงผมก็จะขึ้นยืนบนเวที ป่าวประกาศเชิญชวนคนให้เข้ามาร่วมสนุก ส่วนAlexaไปเป็นผู้รับผิดชอบการจัดคิวและพาผู้เข้าแข่งกันในแต่ละรอบประจำที่ ในบางรอบนอกจากสิ่งของในคอลเล็กชั่นแล้ว เรายังมี “นางแบบจำเป็น” คือพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือเพื่อนๆ ของผู้แข่งขัน ที่อาสาสมัครขึ้นมาโพสท่าเคียงคู่สิ่งของ เรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มได้อีกเยอะ


กิจกรรมนี้ถึงจะดูธรรมดาๆ แต่มีไอเดียจากหลักการที่ว่า การที่จะ”วาด”สิ่งของชิ้นหนึ่งนั้น จะต้องสังเกตสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างมีสมาธิ เป็นการทำความเข้าใจองค์ประกอบการออกแบบของวัตถุนั้นนั้นไปในตัว
(คำว่า Design มีรากศัพท์มาจากภาษาอิตาลี Disegno ซึ่งแปลว่า Drawing นั่นเอง)
ดังนั้นเวิร์คช็อปนี้จึงเป็นการแนะนำวัตถุในV&A แบบเข้าใจง่าย และเกริ่นให้หลายๆคนอยากไปค้นคว้าประวัติสิ่งของแต่ละชิ้นกันต่อในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งนี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยกลวิธีสร้างความสนุกที่ V&A นำมาใช้ในการดึงดูดผู้คนอยู่เสมอ
โดยสิบปีที่ผ่านมาทางพิพิธภัณฑ์ได้เริ่มโครงการพัฒนาที่ใช้งบกว่า150ล้านปอนด์เพื่อบูรณะของที่มีอยู่และจัดสร้างสวนสาธารณะ รวมไปถึงห้องจัดแสดงใหม่ๆ อาธิเช่น The Medieval & Renaissance Galleries และ The Furniture galleries นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ค้นคว้าและวิจัยข้อมูลของวัตถุในพิพิธภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหน่วยการศึกษาที่ประสานงานกับโรงเรียนต่างๆ จัดกิจกรรมทั้งในและนอกสถานที่ เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากคอลเล็คชั่นที่มีอยู่ได้อย่างสูงสุด เรียกได้ว่าแนวคิดของโบราณสถานแห่งนี้ไม่แก่ตามอายุซักนิดเดียว

ระหว่างทางกลับบ้าน ผมสังเกตเห็นป้ายผ้าขนาดยักษ์ใกล้ทางออก พิมพ์สโลแกนของเขาไว้ใหญ่โตว่า “พิพิธภัณฑ์ศิลปะและการออกแบบที่ดีที่สุดของโลก” (“The World’s Gratest Museum of Art and Design”) ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าใครที่ไหนเป็นกรรมการตัดสินมอบตำแหน่งดังกล่าวให้ตั้งแต่เมื่อไร…

ทั้งเก่าทั้งเก๋าขนาดนี้ ผมคงต้องยอมยกให้เขาโดยปริยาย


ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://vam.ac.uk/

*จัดลำดับโดย นิตยสาร complex magazine

Monday 9 December 2013

The Magic Bookshops : ต้องมนต์ (ร้าน) หนังสือ


หากพูดถึงตรอก Cecil Court ในลอนดอน หลายๆคนอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าเป็นตรอกไดแอกอน (Diagon Alley)แล้ว คาดว่าสาวกแฮร์รี่ พอตเตอร์คงจะถึงบางอ้อแน่นอน
เพราะในนวนิยายพ่อมดน้อยได้พูดถึงทางเข้าลับสู่โลกเวทย์มนต์ ที่ตั้งอยู่หลังกำแพงอิฐของร้าน “หม้อใหญ่รั่ว” (Leaky Couldron) ในย่าน Charring Cross ใจกลางเมืองลอนดอน ซึ่งในความเป็นจริง แม้เราจะมองไม่เห็นร้าน “หม้อใหญ่รั่ว” (เขาบอกว่า เหล่าพ่อมด แม่มด เท่านั้นจึงจะมองเห็นร้านนี้) แต่ย่านCharring Crossก็ยังถือเป็นแหล่งดึงดูดเหล่าหนอนหนังสืออยู่ดี เนื่องจากในบริเวณนี้มีร้านหนังสือเก่าและใหม่กระจายอยู่เต็มพื้นที่ โดยเฉพาะในตรอกเล็กๆชื่อ Cecil Court  ซึ่งว่ากันว่าเป็นแรงบันดาลใจของตรอกไดแอกอนในวรรณกรรม แฮร์รี่ พอตเตอร์นั่นเอง

ถนนโบราณของตระกูลCecil ตั้งอยู่อย่างเงียบๆมาตั้งแต่กลางศตวรรษท่ี17 ในตรอกแคบๆห่างจากความชุลมุนวุ่นวายของโรงละครและห้างร้านใน Leister Square แค่ไม่กี่ย่างก้าว โดยในปัจจุบันตลอดสองข้างทางของซอยเล็กๆนี้อัดแน่นไปด้วยร้านหนังสือและสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงของสะสมโบราณมากมาย จนทำให้รู้สึกเหมือนเป็นทางเชื่อมวิเศษที่พาเราย้อนเวลาไปในอดีต แถมสถาปัตยกรรมของแต่ละร้านได้ถูกอนุรักษ์ไว้ให้คงเดิมเหมือนเมื่อร้อยปีที่แล้ว ยิ่งทำให้ผมรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบเข้ามาในตรอกนี้ และไม่รู้สึกแปลกใจเลยที่ J K Rowling จะหยิบความรู้สึกนี้ไปต่อยอดจินตนาการในนวนิยายของเธอ

ร้านหนังสือแต่ละร้านในตรอกนี้ล้วนมีสินค้าและเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณเฉพาะตัว แต่สิ่งที่ทุกร้านมีเหมือนๆกันคือ การเริ่มต้นจากความรักและความชอบส่วนตัว โดยคุณ Peter Ellis เจ้าของร้านหนังสือในเคหะเลขที่18 เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “จำนวนร้านหนังสือในอังกฤษนั้นปิดตัวลงไปครึ่งหนึ่งอย่างน่าใจหายในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ร้านที่อยู่ได้ก็เพราะมีแนวทางเฉพาะของตัวเอง” คุณ Peter เองนั้น ซื้อและขาย หนังสือวรรณกรรมสมัยใหม่หายาก โดยเฉพาะเล่มจากการพิมพ์ครั้งแรก ซึ่งตัวเขาเองมักจะไปสืบเสาะค้นหาจากการประมูลบ้าง ร้านของเก่าบ้าง ไปจนถึงซื้อต่อจากห้องสมุดเก่าๆที่ปิดลงด้วย “สมัยนี้คนชอบหาของกันออนไลน์ อย่างบนเว็บ ebay แต่ส่วนมากการหาจะอยู่ในลักษณะของ Wishl List ซึ่งจะแสดงผลตาม keyword  แต่ในร้านหนังสือ คุณจะสามารถเลือกดูหนังสือที่เรียงกันเป็นตับ ซึ่งบางครั้งทำให้คุณได้เจอกับสิ่งใหม่ๆอย่างคาดไม่ถึง” เรียกได้ว่าร้านหนังสือโบราณเหล่านี้เปรียบเสมือนขุมสมบัติของนักอ่านก็คงไม่ผิดนัก เพราะขนาดหนังสือประวัติศาสตร์อย่าง “คนไทยในราชสำนักพระนางวิคตอเรีย” ซึ่งเป็นบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับคณะนักดนตรีไทยที่ถูกเชิญจากรัฐบาลอังกฤษให้ไปแสดงที่มหกรรมแสดงดนตรีนานาชาติที่ลอนดอน ในพ.ศ.2427 ถูกเขียนและพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่5 ก็ยังจับพลัดจับผลูมาโพล่อยู่ในร้านหนังสือในตรอกนี้ให้ผู้พบเจอได้อึ้ง ทึ่ง เสียว ไปตามๆกัน

ติดกับร้านคุณPeter เป็นร้าน Watkins อันโด่งดังเนื่องจากเป็นร้านหนังสือเกี่ยวกับศาสนา ปรัชญา ไสยศาตร์เร้นลับ และ รหัสญาณ ที่เก่าแก่ที่สุดในลอนดอน วันดีคืนดีเดินเข้าไปก็จะมีคนทรงหรือนักทำนายไพ่มาเปิดบริการกันหน้าร้านเลยทีเดียว และถึงแม้บรรยากาศจะดูน่ากลัวไปนิดแต่พนักงานขายที่นี่ความรู้แน่นปึ๊กแถมอัธยาศัยดีมากๆ ใครที่สนใจแนวนห้ามพลาดเพราะเขาสต็อคตั้งแต่หนังสือวิเคราะห์พิธีกรรม ไปจนถึง หินคริสตัล ธูปเทียน และไพ่ทาโรห์นับพันสำรับให้เลือกซื้อตามอัธยาศัย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายร้านที่น่าสนใจ อย่าง Motor Books ที่ขายหนังสือเกี่ยวกับรถและเครื่องยนต์, David Drummond ที่ขายหนังสือเกี่ยวกับการละคร รวมไปถึงภาพนักแสดงตั้งแต่ยุควิคตอเรี่ยน, Travis & Emery ที่ขายหนังสือเกี่ยวกับดนตรี และชีทเพลงจากคลาสสิคยันโมเดิร์น โดยคนขายร้านนี้บอกผมว่า ถนนCecil Courtนั้นนอกจากจะโด่งดังเรื่องร้านหนังสือหายากแล้ว ที่นี่ยังเคยเป็นที่อยู่ของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ อาธิเช่น นักประพันธ์ชื่อดัง Wolfgang Mozart และ นักเขียนหนังสือเด็กและสายลับชื่อดังของอังกฤษ Arthur Ransome อีกด้วย

ส่วนร้านในดวงใจผม ต้องขอยกให้ The Marchplane เพราะนอกจากร้านนี้จะเปิดบริการในปีเดียวกับปีเกิดของผม (ปีไหนให้เดากันเอง) หนังสือที่เขาสต็อคในร้านล้วนเป็นวรรณกรรมเยาวชนคลาสิค โดยเฉพาะAlice In Wonderland ที่ทางร้านมีฉบับเวอร์ชั่นต่างๆกว่า500เล่มจากทั่วโลก ราคาทั้งแต่10ปอนด์ไปจนถึง5,000ปอนด์ ให้นักสะสมได้เลือกกันตาลาย และแม้ว่าบริเวณของร้านจะค่อนข้างแคบ แต่เจ้าของร้านก็ตกแต่งมันด้วยภาพประกอบหนังสือเด็ก หุ่นยนต์ และเถาวัลย์พันกันไปมา คละอยู่กับหนังสือสวยๆจากพื้นถึงเพดาน ทำให้แค่เดินเข้าร้านผมก็ยิ้มไม่หุบ และอดคิดไม่ได้ว่า เพราะมีร้านหนังสือสนุกๆที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและประวัติศาสตร์น่าพิศวงแบบนี้ ทำให้ลอนดอนเป็นจุดกำเนิดตัวละครมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Harry Potter, Sherlock Holmes, Peter Pan, Dr Jekyll และ Mr. Hyde, Sweeney Todd ไปจนถึง Bridget Jones… ซึ่งตัวละครเหล่านี้นอกจากจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอันมหาศาลแล้ว พวกเขายังคงจุดประกายจินตนาการและความฝัน ในหัวใจผู้อ่านทุกเพศ ทุกวัย ทุกรสนิยม ทั่วทุกมุมโลกอีกด้วย


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Cecil court และร้านหนังสือต่างๆได้ที่ http://www.cecilcourt.co.uk

Friday 8 February 2013

The Face Behind The Smiles ; ใบหน้าเบื้องหลังรอยยิ้ม



สิ่งแรกที่เห็นเมื่อก้าวเท้าเข้าในร้าน SUDA Ricebar ย่าน Covent Garden คือ”รอยยิ้ม” บนใบหน้าขาวดำเป็นร้อยๆ เรียงต่อกันเป็นแพจากชั้นหนึ่งขึ้นไปชั้นสองของร้าน ให้ความรู้สึกเป็นกันเองและอบอุ่นใจแกผู้มาเยือนอย่างบอกไม่ถูก

“ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจให้มันดูไทยนะ แต่พอมาแปะรวมๆกันแล้วมันมีอารมณ์ความเป็นไทยอยู่มาก” คุณ โอ๊ต ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี เจ้าของผลงานพูดถึงงานโดยรวมของเขา ในนิทรรศการ “Everyday Portrait” ที่รวบรวมภาพถ่ายขาวดำของใบหน้าผู้คนซึ่งคุณโอ๊ตได้พบเจอตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ถ่ายบันทึกไว้วันละภาพ เหมือนกับการเก็บไดอารี่ โดยมีนายแบบนางแบบหลายเชื้อชาติ(ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นคนไทย) และภาพส่วนมากมักจะมีรอยยิ้มอยู่ด้วย ในจุดนี้คุณโอ๊ตอธิบายว่า
“ผมอยากจะแบ่งปันความรู้สึกที่ดีๆ เป็นการส่งความสุขแบบหนึ่ง โดยเฉพาะในโปรเจคนี้ที่จะเลือกรูปและอัพโหลดรูปขึ้นfacebookเวลาประมาณเที่ยงคืนของทุกวัน คือหลังจากที่เหนื่อยๆเครียดๆกันมาทั้งวัน แล้วพอเวลาเราเห็นรูปเหล่านี้โผล่ขึ้นมาบนfeed เป็นใบหน้าคนยิ้มให้เรา ผมว่ามันก็ทำให้รู้สึกดีได้นะ”

การเก็บภาพความรู้สึกดีๆไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคุณโอ๊ต เพราะตั้งแต่เขาเรียนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เขาก็รับงานถ่ายภาพหลายแขนง ทั้งงานแฟชั่น งานรับปริญญา งานถ่ายภาพจากสำนักพระราชวัง รวมไปถึง งานที่เขาถนัดและชอบที่สุด นั่นก็คืองานwedding หรือการถ่ายภาพงานวิวาห์นั่นเอง

แต่ถึงแม้จะได้เป็นช่างภาพงานล้นมือตั้งแต่อายุยังน้อย หนทางของคุณ โอ๊ต ชัยสิทธ์ ก็ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะหลังจากที่เรียนมหาวิทยาลัยจบ คุณโอ๊ตยังตั้งใจที่จะหาประสบการณ์ต่อและตามล่าหาฝันการเป็น”ช่างภาพระดับโลก” จึงทำงานเก็บเงิน จนครบหนึ่งล้านบาท ซื้อตั๋วมาศึกษาต่อที่อังกฤษด้วยลำแข้งของตัวเองด้วยอายุเพียงยี่สิบสี่ปี และเริ่มได้รับงานกับชาวอังกฤษเป็นช่างภาพwedding ณ กรุงลอนดอนอย่างเต็มตัว พอถูกถามว่าถ่ายภาพงานแต่งคนไทยหรือคนอังกฤษยากกว่ากัน คุณโอ๊ตหัวเราะเบาๆและตอบว่า “ยากคนละแบบนะ คืองานแต่งคนไทยต้องถ่ายอยู่ตลอด เดินก็ถ่าย นั่งก็ถ่าย ทั้งในพิธีนอกพิธี ต้องทุ่มตัวเกินร้อยจริงๆ แต่ของที่นี่ต้องรู้กาละเทศะ ต้องไปแนะนำตัวกับผู้คนในงาน ไม่ใช่เอะอะก็ถ่าย แชะๆ จนไปรบกวนเขา เราจะเก็บภาพได้ในเฉพาะบางช่วงเท่านั้น เช่นอย่างตอนที่เขาพูดspeechนี่ก็ต้องสำรวม  มีครั้งแรกๆเคยถ่ายเกินเลยจนโดนเขาไล่ออกจากโบสถ์ก็มี”

นอกจากรูปแบบของงานแล้ว รูปแบบชีวิตในฐานะช่างภาพในไทยและอังกฤษก็ต่างกันอย่างมากเช่นกัน…
“คือที่ไทยผมไม่เคยจะต้องสมัครงาน เพราะรู้จักคนเยอะ เพื่อนๆก็แนะนำบอกต่อกันอยู่ตลอด แต่พอมาที่นี้ต้องเขียนจดหมายสมัครงานเป็นครั้งแรก กว่าจะหางานได้ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน” คุณโอ๊ตยิ้ม
“ในช่วงเริ่มต้นผมส่งจดหมายสมัครงานพร้อมตัวอย่างผลงานไปเป็นพันฉบับ แต่ไม่มีใครตอบกลับเลย (หัวเราะ) จนต้องค่อยๆเรียนรู้ว่า เวลาส่งผลงานไปที่ไหนก็ตาม ต้องพยายามเขียนอะไรสั้นๆ เป็นหัวข้ออ่านง่าย และแนบรูปใหญ่ๆ ดูได้ชัดเจน”
สิ่งเหล่านี้เขาไม่ได้เรียนรู้จากสถาบันไหน หากแต่เป็นการลองผิดลองถูกและเรียนรู้เอง ต่อสู้กับจุดอ่อนของตนเองหลายต่อหลายครั้ง
“คือในทุกๆงานที่ทำ หลังเสร็จแล้วผมจะเขียนเลยว่า งานนี้พลาดอะไรตรงไหนบ้าง และในงานครั้งหน้าเราจะแก้ไขมันให้ดีขึ้น จนสมบูรณ์แบบได้อย่างไร”

กว่าจะมาถึงวันนี้ คุณโอ๊ต ชัยสิทธิ์ได้สะสมประสบการณ์ ทั้งด้วบการรับงานเองและไปฝึกงาน, เป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพชื่อดัง อาธิเช่น Adrian Mott, Hugh O's malley และ Rankin จนในทีสุดก็ได้รับโอกาสแสดงงานsoloครั้งแรกของตัวเองที่อังกฤษ ด้วยผลงานที่เริ่มต้นจากโปรเจคเล็กๆที่โรงเรียน จนเติบโตเป็นชิ้นงานกว่าสี่ร้อยชิ้นและยังคงเพิ่มขึ้นวันละรูป ทุกๆวัน  

“ผมสนใจ เรื่องของจิตวิทยา (psychology)มาก โดยเมื่อก่อนจะสนใจเรื่องเทคนิค และก็พัฒนามาเรื่อยๆจนภาพนั้นมีองค์ประกอบและแสงเงาที่ถูกต้อง เป๊ะๆ แต่มันยังขาดความรู้สึกอยู่ กลับกันกับบางภาพที่แม้จะเบลอไปบ้าง แต่ถ่ายทอดอารมณ์ของคนในภาพออกมาได้เหมือนจริงมาก จึงทำให้เราสนใจศึกษาและมุ่งจะดึงความรู้สึึกออกมาจากรูปถ่ายให้ได้ ในโปรเจคนี้ผมจึงกำหนดลักษณะของภาพแบบเรียบง่าย เป็นภาพheadshot ขาวดำ แต่จะพยายามดึงความรู้สึกของนายแบบนางแบบออกมาให้ได้มากที่สุดในฟอร์แมตที่จำกัดนี้” คุณโอ๊ตกล่าว
“หากสังเกตดีๆจะเห็นได้ว่ารูปทุุกๆรูปจะมี signatureของผมอยู่ คือแสดงออกถึงความเป็นคนที่positive คิดบวกและมองโลกในแง่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของช่างภาพและผู้ที่เป็นแบบ โดยแม้จะเจอกันเป็นครั้งแรกแรก แต่ผมจะพยายามลดกำแพงระหว่างกันออกมาที่สุด จนสามารถรอยยิ้มที่เป็นรอยยิ้มจากใจออกมา ซึ่งสิ่งนี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นบุคลิกที่แท้จริง ไม่สามารถปันแต่งขึ้นมาได้” moment of happiness นี้เองจึงเป็นสิ่งที่ถูกเลือก ถูกถ่ายทอดออกมาในงานทุกๆชิ้น แสดงให้เห็นอัตตาลักษณ์ความเป็นไทยแบบอารมณ์ดี และกลายมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาในที่สุด

ขณะที่เดินออกจากร้านผมชำเลืองมองดูรอยยิ้มบนผนังอีกครั้ง หนึ่งในนั้นก็เป็นภาพใบหน้าของผมรวมอยู่ด้วย  แต่แปลกดีที่คราวนี้ เมื่อมองรอยยิ้มของตัวเองดันดูไม่เห็น “โอ๊ต มณเฑียร” ซักเท่าไร…

เนื่องจากแสงเงาที่ลงตัวและความรู้สึกที่เปี่ยมล้นในภาพ ทำให้ผมกลับมองเห็นใบหน้าของคุณ “โอ๊ต ชัยสิทธิ์” ซ้อนอยู่เบื้องหลังรอยยิ้มของตัวเองไปเสียแล้ว…
ภาพโดย โอ๊ต ชัยสิทธิ์
ติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ที่ http://www.oat-chaiyasith.com/

Tuesday 5 February 2013

Oscar Wilde in souvenir shop ; Oscar Wilde ในร้านขายของที่ระลึก

 เป็นเหมือนกันไหม? ที่เวลาไปนิทรรศการแล้วต้องแวะดูร้านขายของที่ระลึก?

ประมาณว่าหากทุนทรัพย์จะไม่พอจับจองศิลปะชิ้นนั้นๆ  ก็ขอซื้อโปสการ์ด สูจิบัตร พวงกุญแจ กระจุกระจิกอะไรก็ได้ไว้เป็นของต่างหน้าแก้ขัดไปละกัน  แถมบางครั้งของที่ระลึกนั้นมีความสร้างสรรค์(และใช้ได้จริง)มากกว่างานที่ถูกจัดแสดงเสียอีก!
ยกตัวอย่างที่ British Library ซึ่งนอกจากจะเป็นบ้านหลังที่สองของผมช่วงทำวิทยานิพนธ์แล้ว  shopของเขายังเต็มไปด้วยของเก๋ๆจากคอลเล็กชั่นหนังสืออันใหญ่โตมโหฬารติดอันดับต้นๆของโลก  ทั้งภาพพิมพ์จากชุดนวนิยายอมตะ, หนังสือหายาก, แผนที่สมัยก่อน ไปจนถึงของชิ้นเล็กอย่าง ปากกาหัวแร้ง หรือ ชุดคั่งตราประทับพร้อมขี้ผึ้งสีแดงเลือดหมู แต่สินค้าล่าสุดที่ประทับใจผมมากคือ ชุดเทียนหอมและน้ำยาปรับอากาศ รุ่น Ex Libris  (ภาษาละตินแปลว่า “จาก หนังสือ”) โดยกลิ่นของเทียนหอมเหล่านี้ถูกดีไซน์ขึ้นจากลักษณะวรรณกรรมของนักเขียนโปรดของคุณ!  เล่นเอาหนอนหนังสืออย่างผมพิศวงสนเท่ห์ได้ชะงัก ยิ่งกลิ่นแรกที่หยิบขึ้นมาดมนั้นได้รับแรงบันดาลใจจาก Oscar Wilde นักเขียนในดวงใจ พร้อมqouteคำพูดติดข้างกล่องจากเจ้าตัวว่า “ผู้ใดที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างถ่อมตัว จำต้องทุกข์ทนกับจินตนาการที่ขาดแคลน” (Anyone who lives within their means suffers from lack of imagination”) บ่งบอกถึงความหรูหราฟุ้มเฟือยอันเป็นเอกลักษณ์งานเขียนของเขาได้อย่างสะใจ

จริงๆแล้ว Oscar Wilde มีผลงานไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับนักเขียนคนอื่นๆในยุคเดียวกัน  งานเขียนของเขาส่วนมากจะเป็นบทความประชดสังคม, นิทานเรื่องสั้น และ งานประพันธ์บทละคร  แต่Wildeไม่ได้โด่งดังจากงานเขียนเท่านั้น เพราะเขาคือstyle guruคนแรกของโลกตะวันตก ด้วยรสนิยมอันดีเลิศ ประกอบกับตัวตนอันอื้อฉาว และอุมการณ์ที่ชัดเจน(Wildeมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและเผยแพร่ Aesthetic movement) ทำให้เขาเป็นหนึ่งบุคคลสาธารณะที่โด่งดังที่สุดในศตวรรษที่19 นอกจากนี้ ในวันที่20 มิถุนายน ค.ศ. 1890  นิยายเรื่องแรกและเรื่องเดียวของเขาถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Lippincott’s และได้สร้างความแตกตื่นให้แก่ผู้อ่านทั่วประเทศ จนเหล่านักวิจารณ์ต่างออกมาด่าดอความฉาบฉวยและเนื้อหาที่เต็มไปด้วยการบิดเบือนจรรยาบรรณอันดีงามของผู้ดีอังกฤษ นิยายเรื่องที่ว่านั่นก็คือ The Picture of Dorian Gray นั่นเอง

หนึ่งร้อยปีจากวันนั้น ผมได้มีโอกาสอ่านนิยายเรื่องที่ว่า ณ กรุงลอนดอน ที่ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดและฉากหลังของหนังสือทั้งเล่ม และถึงแม้ว่าลักษณะของสถานที่จะแตกต่างไปจากคำบรรยายในหนังสือ (อาธิเช่น Covent garden ที่ในยุคสมัยนั้นถือว่าเป็นแหล่งมั่วสุมสกปรก แต่ปัจจุบัญกลายเป็นที่ตั้งของโรงอุปรากรณ์หลวงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เป็นต้น) แต่ลักษณะของ “อารมณ์” และ “ผู้คน” นั้นยังเหมือนเดิมไม่ผิดเพี้ยน โดยเนื้อเรื่องนั้นเล่าถึง เด็กหนุ่มที่ย้ายเข้ามาในเมืองใหญ่เพื่อเรียนรู้โลกกว้าง ถูกรุมเร้าด้วยแสงสีและกิเลสตัณหา และสิ่งเติมแต่งอันสวยงามฉูดฉาด ล้อมรอบไปด้วยสังคมชั้นสูงที่รักการติฉินนินทา ใส่หน้ากากเข้าหากัน ในเรื่องเขาได้รับของขวัญจากเพื่อนจิตรกรเป็นภาพเหมือนของตน หากแต่ภาพพิศวงนั้นได้เก็บวิญญาณของเขาไว้ ทำให้ชายหนุ่มมีรูปโฉมที่สวยงามอมตะ ส่วนในภาพนั้นรูปเขากลับบิดเบี้ยวสยดสยองมากขึ้นเรื่อยๆตามการกระทำอำมหิตของเขา…
ในจุดนี้ ถึงหน้าตาผมจะไม่ได้งดงามเหมือน Dorian Gray แต่แก่นสารนิยายของเขานั้นโดนใจ เหมือนว่ากำลังอ่านบันทึกของตัวเองในฉากของศตวรรษที่19! อาจเป็นเพราะถึงแม้สิ่งนอกกายเราจะเปลี่ยนไป แต่ธรรมชาติของคนก็ยังคงเป็นไปด้วยความโลภ โกรธ หลง ต้องการที่จะเป็นที่รักใคร่ของคนรอบข้าง และไม่ว่าจะในยุคสมัยใด แสงสีของลอนดอนก็ยังสามารถดึงเอาความดิบนั้นออกมาได้อยู่เสมอ
ปัจจุบันนี้ ทุกๆครั้งที่ผมมองกระจกก่อนออกจากบ้าน ผมมองภาพสะท้อนของตัวเอง ประหนึ่งภาพวาดของ Dorian Gray  พลางพยายามเตือนตัวเองเสมอ ให้ไม่ทำความผิดพลาดซ้ำรอยกับพระเอกในเรื่อง ที่ตอนจบต้องประสบโศกนาฏกรรมจากความผิดบาปของตัวเอง… (ใครอยากรู้ว่าความผิดอะไรต้องลองหามาอ่านดู)



แน่นอนว่าในร้านขายของที่ระลึกนั้นมีเทียนหอมหลายกลิ่น บางคนอาจจะชอบกลิ่นหวานของมะลิและกุหลาบในเทียนของ Jane Austin,  บางคนอาจถูกใจกลิ่นอุ่นๆของต้นสนและก้านพลูจากเทียน Charles Dickens,
แต่สำหรับผมก็คงต้องเสียเงินกับกลิ่นของไม้หอม และเครื่องเทศ อันลี้ลับ,หรูหรา และ มีเสน่ห์ แบบOscar Wilde เป็นปริยาย

ลองคิดว่าถ้ามีเทียนหอมที่ได้แรงบันดาลใจจาก สุนทร ภู่ หรือ ปราบดา หยุ่น กลิ่นของมันจะเป็นอย่างไรนะ?

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของBritish Library ได้ที่ http://www.bl.uk/