ผมยังจำวันแรกที่มหาลัยได้ดี
วันนั้นผมสวมรองเท้าPaul Smithsสีขาว
แจ็กแก็ตลายดอกคลุมตัวที่ชุ่มเหงื่อถึงแม้อากาศข้างนอกจะแค่ห้าองศา
มันอาจเป็นความตื่นเต้นจากสิ่งแวดล้อมใหม่ หรือ จากความโกลาหลวุ่นวายของนักเรียนเกือบพันคน
ที่อัดแน่นกันอยู่ในทางเดินแคบๆของตึกเก่าบนSouthampton Row หลายคนถือแฟ้มผลงานขนาดใหญ่ มีสีผมแสนเปรี้ยวแสบตา
ไปจนถึงเสื้อผ้าอันแปลกประหลาด คุยกันเสียงดังถึงไอเดียและแรงบันดาลใจของแต่ละคน...
สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมรวมกัน กลายเป็นบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกว่า
"อะไรก็เกิดขึ้นได้"....
หรือนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นความเป็น
"กบฏ" ของเด็กเซนต์ มาร์ติน?
ผมสอบติดมหาวิทยาลัยด้านศิลปะและการออกแบบ Central
Saint Martins ในเมืองลอนดอนไม่กี่ปีที่แล้ว แต่ถ้าจะย้อนไปพูดเรื่องจุดเริ่มความเป็นกบฏของสถาบันนี้
ต้องท้าวความไปกว่าสองร้อยปี เมื่อศิลปินและนักสังคมนิยม William Morris
ผู้ริเริ่ม Art & Crafts movement
ปลุกระดมให้นักออกแบบหันกลับมาใช้รูปทรงจากธรรมชาติและงานฝีมือ สวนกระแสกับยุคสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรม(Industrial
Revolution) ในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่19 ประกอบกับการปฏิรูปแนวคิดที่ต้องการให้ศิลปะสามารถเข้าถึงได้จากคนทุกชนชั้น
ผลักดันรัฐให้เปิด “สถาบันชนชั้นแรงงาน”
ที่สอดแทรกสุนทรียศาสตร์เข้าไปในงานออกแบบทุกชนิด เกิดเป็นมหาวิทยาลัย London’s
Central School of Arts and Crafts ในปี 1896 และรวมตัวกับ Saint Martins School
of Art กลายเป็น Central Saint Martins ในปี1989 นับจากวันนั้นถึงปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยนี้ยังคงความสวนกระแสและผ่าเหล่ามาตลอด
เห็นได้จากนิสิตชื่อดังที่จบออกมา ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบแฟชั่น Alexander McQueen,
ศิลปินคู่ Gilbert and Gorge
รวมทั้ง Malcolm McLaren บิดาแห่ง Punk ในยุค80s ผู้ก่อตั้งวงขวางโลกอย่าง
The Sex Pistols
จะเห็นได้ว่าไอเดียของพวกเขาล้วนแปลกประหลาดท้าขนบ
แต่ก็ประสบความสำเร็จและกลายเป็นผลงานผลิกเปลี่ยนโฉมหน้าของวัฒนธรรมอังกฤษทั้งสิ้น
แปลว่า ความเป็น"กบฏ"
คือสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์?
ในประสบการณ์ของผม ความเปิดกว้างของเซนต์
มาร์ตินทำให้ผมกล้าที่จะกล้าลองผิดลองถูก
กล้าที่จะแหกคอก
ทำงานแบบห่ามๆตั้งแต่เทสีแดงลงบนตัวแล้วกลิ้งเกลือกเป็นรูปภาพมือเปื้อนเลือดของหมอตำแย
ไปจนถึงวาดภาพที่มีนัยยะทางเพศระหว่างคนกับช้างเผือก
ซึ่งแทนที่จะโดนเซนเซอร์หรือดุด่า เพื่อนๆและอาจารย์กลับสนับสนุนการตีความของผมอย่างเต็มที่
วิสัยทัศน์ของพวกเราจะไม่ถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด
ขอแค่เพียงให้นักเรียนต้องซื่อสัตย์ และกล้าที่จะตั้งคำถามกับเรื่องที่เคยถูกสอนมา
ซึ่งบางครั้งต้องโยงไปถึงเรื่องส่วนตัวมากๆ และยากที่จะพูดออกถึง แต่อาจารย์ผู้สอนก็จะมีวิธีเค้นออกมาจนได้
เช่นมีอยู่ครั้งหนึ่ง อาจารย์์เลือกที่จะไปจัดวิชาเรียนในบาร์
แถมซื้อเบียร์เลี้ยงเด็กทุกคน คนละแก้ว ซึ่งตอนเริ่มคาบก็ยังเงียบๆอายกัน
แต่พอหมดแก้วปรากฏว่าทุกคนล้วนแสดงความคิดตัวเอง แถมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเต็มที่
เป็นต้น หรืออีกกรณีที่น่าสนใจคือ
มีนักวาดภาพ Jasimmine Yip
เขียนสโลแกนเสียดสีหลายมหาวิทยาลัยศิลป์ในลอนดอนอย่างเจ็บแสบ สำหรับเซนต์ มาร์ติน
เธอเขียนไว้สองอันคือ CSM:Pretentious Little Shits และ CSM: Lifestyle not
Education โดยคำขวัญเหล่านี้ทั้งๆที่มีความหมายรุณแรง แต่ได้ถูกใส่ไปในแพ็ครับน้องใหม่หลายพันชิ้นในปีการศึกษา
2009 จนสุดท้ายทางมหาวิทยาลัยเองก็ออกมาชื่นชมความห้าวหาญของเธอ
แถมซื้องานทั้งชุดไว้แสดงที่พิพิธภัณฑ์ของทางสถาบัน
ทำให้นักเรียนทุกคนเห็นว่าในที่แห่งนี้
ความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาจะได้รับการตอบรับเสมอ แม้จะเป็น
ความคิดชายขอบสุดโต่งก็ตาม
ในวันรับปริญญาของผม บัณฑิตกิตติมาศักดิ์ Jarvis
cocker (นักร้องนำวงPulp) กล่าวในสุนทรพจน์ของเขาว่า
“สิ่งที่ผมยังคงพกติดตัวมาจากเซนต์มาร์ตินมาจนถึงทุกวันนี้
ไม่ใช่ความรู้จากหนังสือ แต่เป็นมุมมองอันบ้าบิ่นต่างหาก”
อย่างไรก็ดี ไม่ช้าก็เร็ว
เหล่าความคิดชายขอบก็จะถูกผลักดันจนไปเป็นกระแสหลัก
เหล่ากบฏก็ต่อสู้จนได้รับการยอมรับและกลายเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันที่สุด
เหมือนผมในวันนี้ที่กลับมาโรงเรียนอีกครั้ง สวมPaul
Smithsสีขาวคู่เดิม แจ็คเก็ตลายดอกตัวเดิม
แต่เปลี่ยนบทบาทจากนักศึกษาหัวดื้อ กลายมาเป็นครูผู้สอนเสียเองหลังเรียนจบไม่กี่วัน
พอเปิดประตู พบกับเหล่าเด็กวัยรุ่นเกือบสามสิบคน
มองผมด้วยสายตาขวางๆ…
คราวนี้ต้องรอลุ้นกันว่าจะลงเอยอย่างไร เมื่อ กบฏ
(รุ่นเก่า) เจอ กบฎ (รุ่นใหม่) เสียเอง….