ในขณะที่กลุ่มผู้เดินขบวนเริ่มรวมตัวกันอย่างหนาแน่นที่Tralfalgar square ผมกลับถือโอกาสหลบเข้า ย่านBloomsbury แทน เพราะนอกจากวันนี้(20 ตุลา 2012)จะเป็นวันที่ สหภาพแรงงานนัดกันออกมารวมพลเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาการตัดงบที่ไม่สมควรแล้ว...ในปีนี้มันยังเป็นวันรณรงค์การวาดรูปแห่งชาติ หรือ BIG DRAW DAYที่British museumอีกด้วย !
ตลอดเดือนตุลาคมของทุกๆปี จะสังเกตุเห็นว่าหลากหลายสถาบันทั่วสหราชอณาจักร ต่างลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมให้กับลูกเด็กเล็กแดงไปจนถึงพ่อแม่พี่ป้าน้าอา มาร่วมกัน"วาดรูป"...นี่เป็นเพราะมูลนิธิ Campaign for drawing ได้จัดแต่งตั้งเดือนนี้ให้เป็นเดือนเฉลิมฉลองการวาดเขียน โดยมีศิลปินแห่งชาติอย่างQuentin Blakeเป็นตัวตั้งตัวตี เชิญชวนชาวอังกฤษมาจับดินสอปากกากันอย่างสนุกสนาน เพราะเขาเชื่อว่า การวาดรูปนั้นนอกจากจะให้ความบันเทิงแล้วยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญของพัฒนาการทางสังคม เป็นพื้นฐานของการศึกษาหลายแขนง และเป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตของมนุษยชาติอย่างไม่มีขอบเขต (ว่าไปนั่น) ส่วนทางBritish Museumเองก็ตอบรับแนวคิดนี้และเป็นผู้จัดงานขาประจำทุกๆปีไม่มีเว้น จนครั้งมาถึงปัจจุบันนับเป็นBIG DRAW DAYครั้งที่13แล้วแหละ
ในปีนี้เนื่องจากทางพิพิธภัณฑ์กำลังจัดแสดงนิทรรศการ "Shakespere staging the world" กิจกรรมbig drawจึงมาในธีมที่เกี่ยวกับshakespere ซึ่งก็มีหลากหลายworkshopให้เราได้เลือกกันอย่างเมามันส์ อาธิเช่น Drawing Shakespeare's Lines: ใช้บทประพันธ์ของShakespeareมาเชื่อมต่อเรื่องราวของโบราณวัตถุจากทั่วโลก, Drawing Shakespeare's London :วาดรูปเมืองลอนดอนในสมัยของShakespeare ด้วยcollectionจากศตวรรษที่17, ไปจนถึงสร้างภาพจากเส้นระดับสายตาแบบอียิตป์ โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากศิลปะในพิพิธภัณธ์และบทละครเรื่องAntony and Cleopatra , และอื่นๆอีกมากมายจนเลือกไม่ถูก! สุดท้ายผมก็ไปลงเอยที่workshop Drawing techniques from Shakespeare's time เพราะดูน่าจะเอามาประยุกต์ใช้กับสายอาชีพได้มากสุด...
ประชากรส่วนมากในworkshopไม่ใช่เด็กวัยกระเตาะ แต่กลับเป็นสาวๆรุ่นใหญ่ บ้างเป็นศิลปินเต็มตัว บ้างก็วาดรูปเป็นงานอดิเรก รวมไปถึงครูผู้สอน ชื่อ Philippa Abrahamsที่แม้จะทำตัวเรียบง่ายแบบบ้านๆ แต่เธอเป็นถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการบูรณะศิลปะโบราณที่มีความรู้โชคโชนมากๆ เธอเริ่มเปิดหัวข้อการปฏิบัติการด้วยการบรรยายสั้นๆ จับใจความได้ว่า "การวาดรูปเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งอย่าง โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่17, นักเดินทางทั้งหลายต่างต้องบันทึกสิ่งที่พวกเขาได้เห็นได้เจอในต่างแดนด้วย การวาดรูป และจากรูปวาดเหล่านั้นศิลปินและ นักประพันธ์อย่างShakespeareจึงสามารถสร้างศิลปะและละครซึ่งบอกเล่าถึงดินแดนใหม่ๆ เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้คนในสังคมต่อไป"
Philippaบอก ว่าอุปกรณ์วาดเขียนที่พกพาได้ถือเป็นสิ่งสำคัญมากๆ พวกเขายังไม่มีดินสอ(กว่าจะมีดินสอแบบทุกวันนี้ก็ช่วงปลายศตวรรษที่18โน้น) สิ่งที่นิยมเอามาใช้วาดเขียนในยุคนั้นจึงเป็นแผ่นบอร์ดเคลือบเจสโซ(Gesso) ซึ่งเป็นวัสดุผสมมีเชื้อกาว,กระดูกบดและสี สามารถใช้ของที่มีหัวเป็นเงิน(silver point)วาดแล้วลบออกได้ด้วยน้ำลาย ,หนังสัตว์อบแห้ง(Vellum and Parchment)ที่จะให้ดีต้องเป็นหนังลูกวัวโดนแท้ง,แท่งถ่านอมน้ำมัน, ปากกาขนนกQuill(ส่วนมากเป็นห่าน)ที่ต้องเอาเข้าเตาอบแล้วเอามาเหลาเพื่อให้แกนของมันแข็งพอซึมซัมหมึก ...แต่ละอย่างแค่ฟังผมก็เหนื่อยแล้ว แต่ Philipa ยังใจดีให้ผู้เข้าร่วมworkshopได้ลงมือใช้techniqueเหล่านี้กันด้วยตัวต่อตัว! ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือทุกคนมุ่งไปทำปากกาขนนกของตัวเองกันหมด แต่ปรากฏว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด กว่าจะเหลาปลายปากกากันได้ก็ยอมแพ้กันไปหลายคน
อีกเทคนิคที่น่าสนใจก็คือ Cartooning หรือการลอกแบบเวลาทำรูปเหมือนของบุคคลสำคัญต่างๆ อาธิเช่นพระราชินีอลิซาเบธที่หนึ่งก็จะมีรูป"พิมพ์นิยม"ที่ทรงสั่งให้ศิลปินหลวงวาดขึ้นมา แล้วทำการเจาะรูตรงลายเส้น เพื่อที่เวลาประชาชนคนอื่นๆต้องการจะตีพิมพ์รูปเหมือนของท่านนั้น สามารถนำเอาตัวแบบหรือcartoonนี้ไปฝนผงถ่าน แล้วก็ต่อจุดวาดตาม เพื่อให้รูปที่ออกมาในทุกๆสื่อมีลักษณะที่เหมือนๆกัน นอกจากราชวงศ์แล้ว นักการเมือง หรือคนชั้นสูง รวมไปถึงศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่างShakespeareเอง ก็มีภาพแบบcartoonเหมือนกัน สงสัยว่าราชวงศ์ไทยในสัมยนั้นจะมีภาพต้นแบบอยางนี้รึเปล่านะ?
(เทคนิคนี้ถูกนำมาใช้เวลาออกแบบลวยลายปักผ้าที่วิจิตร ละเอียดยิบในสมัยนั้นเช่นกันจ้า)
ในช่วงท้ายของงาน ผมได้มีโอกาสคุยกับPhilipaเป็นการส่วนตัว เพราะสนใจเรื่องการวาดหมึกลงหนังสัตว์เป็นพิเศษ ผมเล่าให้เธอฟังถึงเรื่องหนังตะลุงของบ้านเรา ซึ่งเราทั้งสองคนเห็นพ้องต้องกันว่าคนสมัยโบราณที่คิดเทคนิคเหล่านี้ช่างอัจฉริยะมากๆ และน่าสนใจที่"ศิลปะ"กับ"ความเชื่อ" มักจะผสมกลมกลืนกัน อย่างในกระบวนการทำหนังตะลุงที่เชื่อว่า หนังที่จะนำมาทำตัวนาง จะต้องเป็นวัวเพศเมียบริสุทธิ์ หรือตัวฤาษีจะต้องเป็นหนังควายแก่เท่านั้น ฯลฯ คุยไปคุยมาถูกคอ เธอก็ยื่นแผ่นParchmentของเธอมาให้ลองวาด โดยใช้หมึกsepia ซึ่งจะลอยอยู่ด้านบนของหนังอย่างสวยงาม "มันเป็นเทคนิคที่พิเศษมาก" Philipaบอก พร้อมกำชับว่าอย่าไปโชว์ให้คนอื่นๆดู "หนังมันแพงมากๆนะ ฮาๆ" ทำเอาผมอมยิ้มไปจนจบworkshopเลยทีเดียว
ตอนขากลับผมเดินผ่านThe Great Hallหรือห้องโถงใหญ่อันเป็นเอกลักษณ์ของBritish Museum แอบเห็นกลุ่มคนจำนวนมาก มามุงล้อมดูอะไรกัน จนตอนแรกนึกว่าเหล่าผู้ประท้วงได้เดินทางมาถึงเสียแล้ว! แต่ที่จริงเป็็นผู้คนที่อยากมาร่วมกิจกรรมวาดรูปเช็คเสปียร์กันต่างหาก โดยมีคุณลุงนักแสดงแต่งตัวเป็นเช็คเสปียร์มานั่งเป็นแบบให้ตรงกลาง ล้อมรอบไปด้วยรูปวาดขนาดใหญ่และผู้เยี่ยมชมมากมายที่ทั้งสนุกกับกิจกรรมและได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความสำคัญของบุคคลและเหตุการณ์ในอังกฤษจากสมัยก่อน มาเชื่อมโยงให้เข้ากับความเป็นไปของเราในปัจจุบัน เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนๆ คนในครอบครัว ไปจนถึงสร้างมิตรภาพใหม่ๆในสถานที่แห่งนี้..
ขณะที่มองเห็นรอยยิ้มของผู้คนรอบข้าง ในใจก็นึกไปว่าอยากให้พวกรัฐบาลที่ตัดงบศิลปะและการศึกษามาร่วมworkshopนี้ด้วยจัง
No comments:
Post a Comment