Friday, 8 February 2013

The Face Behind The Smiles ; ใบหน้าเบื้องหลังรอยยิ้ม



สิ่งแรกที่เห็นเมื่อก้าวเท้าเข้าในร้าน SUDA Ricebar ย่าน Covent Garden คือ”รอยยิ้ม” บนใบหน้าขาวดำเป็นร้อยๆ เรียงต่อกันเป็นแพจากชั้นหนึ่งขึ้นไปชั้นสองของร้าน ให้ความรู้สึกเป็นกันเองและอบอุ่นใจแกผู้มาเยือนอย่างบอกไม่ถูก

“ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจให้มันดูไทยนะ แต่พอมาแปะรวมๆกันแล้วมันมีอารมณ์ความเป็นไทยอยู่มาก” คุณ โอ๊ต ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี เจ้าของผลงานพูดถึงงานโดยรวมของเขา ในนิทรรศการ “Everyday Portrait” ที่รวบรวมภาพถ่ายขาวดำของใบหน้าผู้คนซึ่งคุณโอ๊ตได้พบเจอตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ถ่ายบันทึกไว้วันละภาพ เหมือนกับการเก็บไดอารี่ โดยมีนายแบบนางแบบหลายเชื้อชาติ(ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นคนไทย) และภาพส่วนมากมักจะมีรอยยิ้มอยู่ด้วย ในจุดนี้คุณโอ๊ตอธิบายว่า
“ผมอยากจะแบ่งปันความรู้สึกที่ดีๆ เป็นการส่งความสุขแบบหนึ่ง โดยเฉพาะในโปรเจคนี้ที่จะเลือกรูปและอัพโหลดรูปขึ้นfacebookเวลาประมาณเที่ยงคืนของทุกวัน คือหลังจากที่เหนื่อยๆเครียดๆกันมาทั้งวัน แล้วพอเวลาเราเห็นรูปเหล่านี้โผล่ขึ้นมาบนfeed เป็นใบหน้าคนยิ้มให้เรา ผมว่ามันก็ทำให้รู้สึกดีได้นะ”

การเก็บภาพความรู้สึกดีๆไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคุณโอ๊ต เพราะตั้งแต่เขาเรียนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เขาก็รับงานถ่ายภาพหลายแขนง ทั้งงานแฟชั่น งานรับปริญญา งานถ่ายภาพจากสำนักพระราชวัง รวมไปถึง งานที่เขาถนัดและชอบที่สุด นั่นก็คืองานwedding หรือการถ่ายภาพงานวิวาห์นั่นเอง

แต่ถึงแม้จะได้เป็นช่างภาพงานล้นมือตั้งแต่อายุยังน้อย หนทางของคุณ โอ๊ต ชัยสิทธ์ ก็ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะหลังจากที่เรียนมหาวิทยาลัยจบ คุณโอ๊ตยังตั้งใจที่จะหาประสบการณ์ต่อและตามล่าหาฝันการเป็น”ช่างภาพระดับโลก” จึงทำงานเก็บเงิน จนครบหนึ่งล้านบาท ซื้อตั๋วมาศึกษาต่อที่อังกฤษด้วยลำแข้งของตัวเองด้วยอายุเพียงยี่สิบสี่ปี และเริ่มได้รับงานกับชาวอังกฤษเป็นช่างภาพwedding ณ กรุงลอนดอนอย่างเต็มตัว พอถูกถามว่าถ่ายภาพงานแต่งคนไทยหรือคนอังกฤษยากกว่ากัน คุณโอ๊ตหัวเราะเบาๆและตอบว่า “ยากคนละแบบนะ คืองานแต่งคนไทยต้องถ่ายอยู่ตลอด เดินก็ถ่าย นั่งก็ถ่าย ทั้งในพิธีนอกพิธี ต้องทุ่มตัวเกินร้อยจริงๆ แต่ของที่นี่ต้องรู้กาละเทศะ ต้องไปแนะนำตัวกับผู้คนในงาน ไม่ใช่เอะอะก็ถ่าย แชะๆ จนไปรบกวนเขา เราจะเก็บภาพได้ในเฉพาะบางช่วงเท่านั้น เช่นอย่างตอนที่เขาพูดspeechนี่ก็ต้องสำรวม  มีครั้งแรกๆเคยถ่ายเกินเลยจนโดนเขาไล่ออกจากโบสถ์ก็มี”

นอกจากรูปแบบของงานแล้ว รูปแบบชีวิตในฐานะช่างภาพในไทยและอังกฤษก็ต่างกันอย่างมากเช่นกัน…
“คือที่ไทยผมไม่เคยจะต้องสมัครงาน เพราะรู้จักคนเยอะ เพื่อนๆก็แนะนำบอกต่อกันอยู่ตลอด แต่พอมาที่นี้ต้องเขียนจดหมายสมัครงานเป็นครั้งแรก กว่าจะหางานได้ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน” คุณโอ๊ตยิ้ม
“ในช่วงเริ่มต้นผมส่งจดหมายสมัครงานพร้อมตัวอย่างผลงานไปเป็นพันฉบับ แต่ไม่มีใครตอบกลับเลย (หัวเราะ) จนต้องค่อยๆเรียนรู้ว่า เวลาส่งผลงานไปที่ไหนก็ตาม ต้องพยายามเขียนอะไรสั้นๆ เป็นหัวข้ออ่านง่าย และแนบรูปใหญ่ๆ ดูได้ชัดเจน”
สิ่งเหล่านี้เขาไม่ได้เรียนรู้จากสถาบันไหน หากแต่เป็นการลองผิดลองถูกและเรียนรู้เอง ต่อสู้กับจุดอ่อนของตนเองหลายต่อหลายครั้ง
“คือในทุกๆงานที่ทำ หลังเสร็จแล้วผมจะเขียนเลยว่า งานนี้พลาดอะไรตรงไหนบ้าง และในงานครั้งหน้าเราจะแก้ไขมันให้ดีขึ้น จนสมบูรณ์แบบได้อย่างไร”

กว่าจะมาถึงวันนี้ คุณโอ๊ต ชัยสิทธิ์ได้สะสมประสบการณ์ ทั้งด้วบการรับงานเองและไปฝึกงาน, เป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพชื่อดัง อาธิเช่น Adrian Mott, Hugh O's malley และ Rankin จนในทีสุดก็ได้รับโอกาสแสดงงานsoloครั้งแรกของตัวเองที่อังกฤษ ด้วยผลงานที่เริ่มต้นจากโปรเจคเล็กๆที่โรงเรียน จนเติบโตเป็นชิ้นงานกว่าสี่ร้อยชิ้นและยังคงเพิ่มขึ้นวันละรูป ทุกๆวัน  

“ผมสนใจ เรื่องของจิตวิทยา (psychology)มาก โดยเมื่อก่อนจะสนใจเรื่องเทคนิค และก็พัฒนามาเรื่อยๆจนภาพนั้นมีองค์ประกอบและแสงเงาที่ถูกต้อง เป๊ะๆ แต่มันยังขาดความรู้สึกอยู่ กลับกันกับบางภาพที่แม้จะเบลอไปบ้าง แต่ถ่ายทอดอารมณ์ของคนในภาพออกมาได้เหมือนจริงมาก จึงทำให้เราสนใจศึกษาและมุ่งจะดึงความรู้สึึกออกมาจากรูปถ่ายให้ได้ ในโปรเจคนี้ผมจึงกำหนดลักษณะของภาพแบบเรียบง่าย เป็นภาพheadshot ขาวดำ แต่จะพยายามดึงความรู้สึกของนายแบบนางแบบออกมาให้ได้มากที่สุดในฟอร์แมตที่จำกัดนี้” คุณโอ๊ตกล่าว
“หากสังเกตดีๆจะเห็นได้ว่ารูปทุุกๆรูปจะมี signatureของผมอยู่ คือแสดงออกถึงความเป็นคนที่positive คิดบวกและมองโลกในแง่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของช่างภาพและผู้ที่เป็นแบบ โดยแม้จะเจอกันเป็นครั้งแรกแรก แต่ผมจะพยายามลดกำแพงระหว่างกันออกมาที่สุด จนสามารถรอยยิ้มที่เป็นรอยยิ้มจากใจออกมา ซึ่งสิ่งนี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นบุคลิกที่แท้จริง ไม่สามารถปันแต่งขึ้นมาได้” moment of happiness นี้เองจึงเป็นสิ่งที่ถูกเลือก ถูกถ่ายทอดออกมาในงานทุกๆชิ้น แสดงให้เห็นอัตตาลักษณ์ความเป็นไทยแบบอารมณ์ดี และกลายมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาในที่สุด

ขณะที่เดินออกจากร้านผมชำเลืองมองดูรอยยิ้มบนผนังอีกครั้ง หนึ่งในนั้นก็เป็นภาพใบหน้าของผมรวมอยู่ด้วย  แต่แปลกดีที่คราวนี้ เมื่อมองรอยยิ้มของตัวเองดันดูไม่เห็น “โอ๊ต มณเฑียร” ซักเท่าไร…

เนื่องจากแสงเงาที่ลงตัวและความรู้สึกที่เปี่ยมล้นในภาพ ทำให้ผมกลับมองเห็นใบหน้าของคุณ “โอ๊ต ชัยสิทธิ์” ซ้อนอยู่เบื้องหลังรอยยิ้มของตัวเองไปเสียแล้ว…
ภาพโดย โอ๊ต ชัยสิทธิ์
ติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ที่ http://www.oat-chaiyasith.com/

Tuesday, 5 February 2013

Oscar Wilde in souvenir shop ; Oscar Wilde ในร้านขายของที่ระลึก

 เป็นเหมือนกันไหม? ที่เวลาไปนิทรรศการแล้วต้องแวะดูร้านขายของที่ระลึก?

ประมาณว่าหากทุนทรัพย์จะไม่พอจับจองศิลปะชิ้นนั้นๆ  ก็ขอซื้อโปสการ์ด สูจิบัตร พวงกุญแจ กระจุกระจิกอะไรก็ได้ไว้เป็นของต่างหน้าแก้ขัดไปละกัน  แถมบางครั้งของที่ระลึกนั้นมีความสร้างสรรค์(และใช้ได้จริง)มากกว่างานที่ถูกจัดแสดงเสียอีก!
ยกตัวอย่างที่ British Library ซึ่งนอกจากจะเป็นบ้านหลังที่สองของผมช่วงทำวิทยานิพนธ์แล้ว  shopของเขายังเต็มไปด้วยของเก๋ๆจากคอลเล็กชั่นหนังสืออันใหญ่โตมโหฬารติดอันดับต้นๆของโลก  ทั้งภาพพิมพ์จากชุดนวนิยายอมตะ, หนังสือหายาก, แผนที่สมัยก่อน ไปจนถึงของชิ้นเล็กอย่าง ปากกาหัวแร้ง หรือ ชุดคั่งตราประทับพร้อมขี้ผึ้งสีแดงเลือดหมู แต่สินค้าล่าสุดที่ประทับใจผมมากคือ ชุดเทียนหอมและน้ำยาปรับอากาศ รุ่น Ex Libris  (ภาษาละตินแปลว่า “จาก หนังสือ”) โดยกลิ่นของเทียนหอมเหล่านี้ถูกดีไซน์ขึ้นจากลักษณะวรรณกรรมของนักเขียนโปรดของคุณ!  เล่นเอาหนอนหนังสืออย่างผมพิศวงสนเท่ห์ได้ชะงัก ยิ่งกลิ่นแรกที่หยิบขึ้นมาดมนั้นได้รับแรงบันดาลใจจาก Oscar Wilde นักเขียนในดวงใจ พร้อมqouteคำพูดติดข้างกล่องจากเจ้าตัวว่า “ผู้ใดที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างถ่อมตัว จำต้องทุกข์ทนกับจินตนาการที่ขาดแคลน” (Anyone who lives within their means suffers from lack of imagination”) บ่งบอกถึงความหรูหราฟุ้มเฟือยอันเป็นเอกลักษณ์งานเขียนของเขาได้อย่างสะใจ

จริงๆแล้ว Oscar Wilde มีผลงานไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับนักเขียนคนอื่นๆในยุคเดียวกัน  งานเขียนของเขาส่วนมากจะเป็นบทความประชดสังคม, นิทานเรื่องสั้น และ งานประพันธ์บทละคร  แต่Wildeไม่ได้โด่งดังจากงานเขียนเท่านั้น เพราะเขาคือstyle guruคนแรกของโลกตะวันตก ด้วยรสนิยมอันดีเลิศ ประกอบกับตัวตนอันอื้อฉาว และอุมการณ์ที่ชัดเจน(Wildeมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและเผยแพร่ Aesthetic movement) ทำให้เขาเป็นหนึ่งบุคคลสาธารณะที่โด่งดังที่สุดในศตวรรษที่19 นอกจากนี้ ในวันที่20 มิถุนายน ค.ศ. 1890  นิยายเรื่องแรกและเรื่องเดียวของเขาถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Lippincott’s และได้สร้างความแตกตื่นให้แก่ผู้อ่านทั่วประเทศ จนเหล่านักวิจารณ์ต่างออกมาด่าดอความฉาบฉวยและเนื้อหาที่เต็มไปด้วยการบิดเบือนจรรยาบรรณอันดีงามของผู้ดีอังกฤษ นิยายเรื่องที่ว่านั่นก็คือ The Picture of Dorian Gray นั่นเอง

หนึ่งร้อยปีจากวันนั้น ผมได้มีโอกาสอ่านนิยายเรื่องที่ว่า ณ กรุงลอนดอน ที่ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดและฉากหลังของหนังสือทั้งเล่ม และถึงแม้ว่าลักษณะของสถานที่จะแตกต่างไปจากคำบรรยายในหนังสือ (อาธิเช่น Covent garden ที่ในยุคสมัยนั้นถือว่าเป็นแหล่งมั่วสุมสกปรก แต่ปัจจุบัญกลายเป็นที่ตั้งของโรงอุปรากรณ์หลวงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เป็นต้น) แต่ลักษณะของ “อารมณ์” และ “ผู้คน” นั้นยังเหมือนเดิมไม่ผิดเพี้ยน โดยเนื้อเรื่องนั้นเล่าถึง เด็กหนุ่มที่ย้ายเข้ามาในเมืองใหญ่เพื่อเรียนรู้โลกกว้าง ถูกรุมเร้าด้วยแสงสีและกิเลสตัณหา และสิ่งเติมแต่งอันสวยงามฉูดฉาด ล้อมรอบไปด้วยสังคมชั้นสูงที่รักการติฉินนินทา ใส่หน้ากากเข้าหากัน ในเรื่องเขาได้รับของขวัญจากเพื่อนจิตรกรเป็นภาพเหมือนของตน หากแต่ภาพพิศวงนั้นได้เก็บวิญญาณของเขาไว้ ทำให้ชายหนุ่มมีรูปโฉมที่สวยงามอมตะ ส่วนในภาพนั้นรูปเขากลับบิดเบี้ยวสยดสยองมากขึ้นเรื่อยๆตามการกระทำอำมหิตของเขา…
ในจุดนี้ ถึงหน้าตาผมจะไม่ได้งดงามเหมือน Dorian Gray แต่แก่นสารนิยายของเขานั้นโดนใจ เหมือนว่ากำลังอ่านบันทึกของตัวเองในฉากของศตวรรษที่19! อาจเป็นเพราะถึงแม้สิ่งนอกกายเราจะเปลี่ยนไป แต่ธรรมชาติของคนก็ยังคงเป็นไปด้วยความโลภ โกรธ หลง ต้องการที่จะเป็นที่รักใคร่ของคนรอบข้าง และไม่ว่าจะในยุคสมัยใด แสงสีของลอนดอนก็ยังสามารถดึงเอาความดิบนั้นออกมาได้อยู่เสมอ
ปัจจุบันนี้ ทุกๆครั้งที่ผมมองกระจกก่อนออกจากบ้าน ผมมองภาพสะท้อนของตัวเอง ประหนึ่งภาพวาดของ Dorian Gray  พลางพยายามเตือนตัวเองเสมอ ให้ไม่ทำความผิดพลาดซ้ำรอยกับพระเอกในเรื่อง ที่ตอนจบต้องประสบโศกนาฏกรรมจากความผิดบาปของตัวเอง… (ใครอยากรู้ว่าความผิดอะไรต้องลองหามาอ่านดู)



แน่นอนว่าในร้านขายของที่ระลึกนั้นมีเทียนหอมหลายกลิ่น บางคนอาจจะชอบกลิ่นหวานของมะลิและกุหลาบในเทียนของ Jane Austin,  บางคนอาจถูกใจกลิ่นอุ่นๆของต้นสนและก้านพลูจากเทียน Charles Dickens,
แต่สำหรับผมก็คงต้องเสียเงินกับกลิ่นของไม้หอม และเครื่องเทศ อันลี้ลับ,หรูหรา และ มีเสน่ห์ แบบOscar Wilde เป็นปริยาย

ลองคิดว่าถ้ามีเทียนหอมที่ได้แรงบันดาลใจจาก สุนทร ภู่ หรือ ปราบดา หยุ่น กลิ่นของมันจะเป็นอย่างไรนะ?

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของBritish Library ได้ที่ http://www.bl.uk/