"3....2....1...วาด!!!"
เมื่อสิ้นเสียงของผม
ผู้เข้าแข่งขันสิบคนทั้งเด็กตัวเล็กจวบจนผู้ใหญ่ตัวโตพร้อมใจกันคว้าดินสอ สีไม้
ปากกา และแท่งชาโคล
ขึ้นละเลงบนกระดาษขาวที่ถูกเตรียมไว้บนขาตั้งกระดานวาดรูปของแต่ละคนอย่างตื่นเต้น บางคนขะมักเขม้นใส่ใจอยู่กับผลงานของตัวเอง
อีกหลายคนแอบชำเลืองมองรูปของคนข้างๆพลางหัวเราะติชมกันไปมาอย่างสนุกสนาน
ท่ามกลางสายตาของคนที่ผ่านไปมา ในห้องโถงใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ Victoria&Albert
หรือ the V&A... ทำเอาตัวผมเองที่ยืนอยู่บนเวทียังไม่อยากจะเชื่อสายตาตัวเอง
ว่าบรรยากาศเจี๊ยวจ๊าวและมีชีวิตชีวาขนาดนี้
จะเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ระดับชาติที่มีประวัติยาวนานย้อนไปถึงปี 1851
ความเด็ดของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มกันตั้งแต่ชื่อ
ที่ตั้งเพื่อเป็นเกียรติกับเจ้าชายAlbertและพระราชินีVictoria
ผู้สนับสนุนอุดมการณ์ให้ศิลปะและงานออกแบบเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้จากชนชั้นทำงาน
(สวนกระแสของพิพิธภัณฑ์ที่โด่งดังในขณะนั้นซึ่งแสดงแต่ศิลปะของชนชั้นสูง เช่น
National Gallery) และใช้ความรู้เป็นแรงผลักดันวงการอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ
ส่งผลให้มีคอลเล็คชั่นศิลปะและงานออกแบบอันมโหฬารประกอบด้วยสิ่งของและโบราณวัตถุกว่า4.5ล้านชิ้น
จากตลอดช่วงเวลาในประวัตศาสตร์กว่า5,000ปี
และที่เจ๋งที่สุดคือมีกิจกรรมการเรียนรู้ดีๆให้เข้าร่วมฟรีตลอดศก
จึงไม่แปลกที่สถานที่แห่งนี้จะได้จัดอยู่ในลำดับต้นๆของ
“หนึ่งร้อยพิพิธภัณฑ์ที่ต้องไปดูก่อนตาย”* และทำให้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรช่วยจัดอบรมเชิงปฎิบัติการ
ร่วมกับศิลปินสาวไฟแรง Alexa Galea เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม V&A Summer camp
ที่จะมีขึ้นในฤดูร้อนของทุกปี
ในปีนี้มีการแบ่งประเภทของกิจกรรมเป็นสามหัวข้อ คือ Idea
ที่ครอบคลุมหลากหลายการสัมนา, Make เป็นกิจกรรมประกอบนิทรรศการว่าด้วยพลังของงานประดิษฐ์สร้างสรรค์
และสุดท้าย Design ที่มีเวิร์คช็อปสนุกๆให้ผู้เยี่ยมชมได้ลงมือออกแบบโดยใช้ประติมากรรมและจิตรกรรม
จากในพิพิธภัณฑ์เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่่งหนึ่งในนั้นก็คือกิจกรรม Speed Drawing
ของพวกเรานั้นเอง มีกติกาง่ายๆ คือ ให้ผู้เข้าแข่งขันสิบคนวาดรูปด้วยอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ให้
ภายในเวลาแค่สองนาที! ส่วนสิ่งที่นำมาเป็นแบบให้วาดก็คือ ถ้วย โถ รูปปั้น
และสิ่งของต่างๆในพิพิธภัณฑ์นั่นเอง
และใครที่สามารถ“เล่าเรื่อง”ด้วยรูปสิ่งของเหล่านี้ได้ดีที่สุด(ไม่จำเป็นต้องสวย)ในรอบนั้น
จะได้รับรางวัลเป็นตั๋วเข้าชมนิทรรศการหมุนเวียนของ V&A ฟรี
แต่เอาเข้าจริงๆคนส่วนมากที่เข้ามาต่อคิวก็ไม่ได้หวังเรื่องแพ้ชนะ
แค่อยากมาเล่นเพราะว่ามันดูสนุกเท่านั้นเอง
บรรยากาศโดยรวมจึงไม่เครียดและเป็นกันเองตลอดวัน
เริ่มตั้งแต่ตอนเช้า เราประกอบเวทีเล็กๆและจอฉายขึ้นในโถงใหญ่
ภายใต้การดูแลของภัณฑารักษณ์ที่มาแนะบริเวณกิจกรรมเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการทำงานศิลปะเสียหาย
จนสุดท้ายได้วางขาตั้งวาดรูปสิบชิ้น พร้อมอุปกรณ์ เคียงข้าง อนุเสาวรีย์แด่
Emily Georgiana และ
รูปแกะสลักของCharles Pelham ซึ่งทั้งคู่เป็นรูปปั้นหินอ่อนอายุกว่า 160ปี
เราสองคนจึงต้องแบ่งหน้าที่กันดูแลเหล่าผู้คนและเหล่ารูปปั้นไปพร้อมๆกัน
นอกจากนี้ในบางช่วงผมก็จะขึ้นยืนบนเวที ป่าวประกาศเชิญชวนคนให้เข้ามาร่วมสนุก
ส่วนAlexaไปเป็นผู้รับผิดชอบการจัดคิวและพาผู้เข้าแข่งกันในแต่ละรอบประจำที่
ในบางรอบนอกจากสิ่งของในคอลเล็กชั่นแล้ว เรายังมี “นางแบบจำเป็น”
คือพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือเพื่อนๆ ของผู้แข่งขัน
ที่อาสาสมัครขึ้นมาโพสท่าเคียงคู่สิ่งของ เรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มได้อีกเยอะ
กิจกรรมนี้ถึงจะดูธรรมดาๆ
แต่มีไอเดียจากหลักการที่ว่า การที่จะ”วาด”สิ่งของชิ้นหนึ่งนั้น จะต้องสังเกตสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างมีสมาธิ
เป็นการทำความเข้าใจองค์ประกอบการออกแบบของวัตถุนั้นนั้นไปในตัว
(คำว่า Design มีรากศัพท์มาจากภาษาอิตาลี Disegno
ซึ่งแปลว่า Drawing นั่นเอง)
ดังนั้นเวิร์คช็อปนี้จึงเป็นการแนะนำวัตถุในV&A
แบบเข้าใจง่าย และเกริ่นให้หลายๆคนอยากไปค้นคว้าประวัติสิ่งของแต่ละชิ้นกันต่อในพิพิธภัณฑ์
ซึ่งนี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยกลวิธีสร้างความสนุกที่ V&A
นำมาใช้ในการดึงดูดผู้คนอยู่เสมอ
โดยสิบปีที่ผ่านมาทางพิพิธภัณฑ์ได้เริ่มโครงการพัฒนาที่ใช้งบกว่า150ล้านปอนด์เพื่อบูรณะของที่มีอยู่และจัดสร้างสวนสาธารณะ
รวมไปถึงห้องจัดแสดงใหม่ๆ อาธิเช่น The Medieval & Renaissance Galleries และ
The Furniture galleries
นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ค้นคว้าและวิจัยข้อมูลของวัตถุในพิพิธภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งหน่วยการศึกษาที่ประสานงานกับโรงเรียนต่างๆ จัดกิจกรรมทั้งในและนอกสถานที่
เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากคอลเล็คชั่นที่มีอยู่ได้อย่างสูงสุด เรียกได้ว่าแนวคิดของโบราณสถานแห่งนี้ไม่แก่ตามอายุซักนิดเดียว
ระหว่างทางกลับบ้าน
ผมสังเกตเห็นป้ายผ้าขนาดยักษ์ใกล้ทางออก พิมพ์สโลแกนของเขาไว้ใหญ่โตว่า
“พิพิธภัณฑ์ศิลปะและการออกแบบที่ดีที่สุดของโลก” (“The World’s Gratest Museum of
Art and Design”)
ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าใครที่ไหนเป็นกรรมการตัดสินมอบตำแหน่งดังกล่าวให้ตั้งแต่เมื่อไร…
ทั้งเก่าทั้งเก๋าขนาดนี้
ผมคงต้องยอมยกให้เขาโดยปริยาย
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://vam.ac.uk/
*จัดลำดับโดย
นิตยสาร complex magazine
No comments:
Post a Comment