Tuesday, 19 August 2014

Tales of Cocktails มาร์ตินี่ที่เพลย์บอยคลับ

 

 หนุ่มๆหลายคนคงเคยนึกฝันเหมือนผมว่าเกิดมาชาตินี้เราต้องไปนั่งดื่มกับสาวๆชุดกระต่ายที่Playboy Clubให้ได้ซักครั้ง! และหลังจากอยู่ลอนดอนมาหลายปีในที่สุดฝันนี้ของผมก็กลายเป็นจริง เนื่องในโอกาสที่เพื่อนคนสนิทของผมได้รับเชิญไปเป็นดีเจให้งานวันเกิดของนักร้องหนุ่มแนวหน้าวงการอินดี้อังกฤษอย่างJames Blake ซึ่งดันไปจัดในคลับที่นั่นพอดี งานนี้ผมเลยขอติดตามเข้าไปดูให้เป็นบุญตาซักครั้งว่าข้างในคลับสุดเอ็กซ์คลูซีฟนี้ มันเจ๋งเหมือนกิติศัพท์ที่เราเคยได้ยินมาหรือไม่ อย่างไร

The Playboy Cubสาขาแรกนั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี1960 หลังจากHuge Hefnerตีพิมพ์นิตยสารPlayboy Magazineเล่มแรกเป็นเวลาเจ็ดปี โดยสาขาแรกเปิดตัวที่Chicagoในอเมริกา และได้รับความนิยมอย่างสูงจนได้มาเปิดที่ลอนดอนในปี 1966 เป็นคลับสาขาแรกที่มีบ่อนคาสิโนอยู่ด้านในด้วย แต่ด้วยพิษเศรษฐกิจและปัญหาภายในทำให้คลับแต่ละสาขาทยอยปิดตัวลงในช่วงปลายยุค80s จนเวลาผ่านไปกว่า30ปี Playboy Club London จึงเปิดประตูรับแขกอีกครั้งในแมนชั่นใหม่เอี่ยมออกแบบโดยสถาปนิคลอนดอน Jestico + Whiles ตั้งอยู่เลขที่ 14 ถนนOld park lane ไม่ไกลจากพิกัดของคลับเดิมมากนัก ซึ่งถ้าพูดกันตรงๆทั้งการตกแต่งและตัวอาคารของPlayboy Clubอันใหม่นี้ก็ไม่ได้หรูหราอะไรมาก (อาจเป็นเพราะตั้งอยู่ใกล้ๆโรงแรม Hilton, Hard Rock Cafe และ Four Seasons ทำให้โดนรัศมีความอลังการของโรงแรมใหญ่กลบไปเสียหมด) แต่ทีเด็ดนั้นอยู่ที่สาวๆบันนี่เกิร์ลที่ทั้งสวยเซ็กซี่และเป็นกันเองอย่างเหลือเชื่อ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไปในคลับ สาวผมทองในชุดกระต่ายแน่นเปรี๊ยะก็รี่เข้ามาต้อนรับผมพร้อมช่วยเอาโค้ทไปแขวนให้ "เพิ่งมาครั้งแรกหรอคะ?"
ผมพยักหน้าและยิ้มให้เธอแบบอายๆ เธอหัวเราะคิกคักแล้วบอกว่า "don't worry, you will have a great night!" พูดจบปุ๊บเธอก็ฝากให้เพื่อนสาวบันน่ีเกิร์ลอีกคนพาพวกเราไปด้านในของส่วนคลับชื่อว่า Baroque “คลับของเราแบ่งเป็นหลายส่วนคะ มีทั้งคาสิโน่ ร้านอาหารโดยเชฟJudy Joo, เลานจ์สำหรับสมาชิก คอคเทลบาร์และส่วนคลับBaroque เป็นที่จัดงานแลี้ยงและการแสดงดนตรีสดด้วย” พอเธออธิบายจบ สาวบันนี่อีกคนก็ออกมารับพวกเราเข้าไปด้านใน ผมเดาว่าเธอน่าจะเป็นระดับหัวหน้าบันนี่ดูจากบุคลิคที่คมเข้มสง่างามและเครื่องแบบที่เป็นบราเซียฟังเพชรแวววาวกว่าสาวๆคนอื่นๆ “Welcome darling!” เธอจูบทักทายผมที่แก้มสองข้างเหมือนคนคุ้นเคย ทำเอาผมหน้าแดงระเรื่อตั้งแต่หัวค่ำ

เราเต้นบนฟลอร์ซักพักจนถึงเวลาเที่ยงคืน ไฟสปอต์ไลต์สว่างจ้าก็ฉายมาที่บันนี่เกิร์ลสามคน ซึ่งช่วยกันเข็นแก้วทรงสูงกว่าสามสิบใบที่ถูกวางซ้อนกันเป็นทรงปิรามิตออกมาหน้าตรงหน้าโต๊ะของเรา  ไม่ทันไรขวดแชมเปญราคาแพงก็ถูกเปิดดัง "โป๊ะ!ๆๆ" สองสามขวดพร้อมๆกัน ส่งสัญญาณเริ่มประเพณีการเท champagne fountain ให้กับเจ้าของวันเกิด (ประมาณว่าที่นี่เขาไม่เสริฟเค้ก แต่เสริฟเครื่องดื่มราคาแพงอย่างแชมเปจให้เป็นของขวัญแทน) ในจุดนั้น คงไม่มีคำอื่นนอกจากคำว่า "ฟิน" ที่จะพรรณาอรรถรสในการได้เห็น แชมเปญสีทองถูกรินออกจากขวดในมือของเหล่าสาวๆบันนี่เกิร์ล ไหลล้นเอ่อผ่านแก้วทีละใบๆลงเป็นน้ำตกสีทองต่อหน้าต่อตา มันเป็นความฟุ้งเฟ้ออย่างเหลือเชื่อจนผมต้องแอบหยิกตัวเองให้แน่ใจว่าไม่ได้ฝันอยู่! เสียดายที่ตัวนักร้องหนุ่มเจ้าภาพนั้นแทบจะไม่ได้สนใจอะไรเท่าไรนัก ดูจะมุ่งมั่นกับการเกี้ยวสาวเงียบๆอยู่ในมุมของโซฟาส่วนตัวของเขาเสียมากกว่า  แต่ตัวผมเองดันได้นั่งอยู่กลางโต๊ะพอดีแถมหน้าตาตื่นเต้นตีไม้ตีมืออยู่คนเดียว พร้อมคว้าโทรศัพท์มาถ่ายวิดีโอสุดฤทธิ์ ทำเอาแขกคนอื่นๆเข้าใจผิดหันมาแฮปปี้เบิร์ดเดย์ผมซะงั้น

นอกจากได้จิบแชมเปญแล้ว มาถึงPlayboy clubทั้งที จะไม่ลองค็อกเทลด้วยก็กะไรอยู่ เพราะเขามี Savatore Bar ที่ก่อตั้งโดยเจ้าพ่อค็อกเทลชื่อดังของลอนดอนอย่าง Salvatore Calabrese ผู้คิดค้นเครื่องดื่มคลาสสิคหลายแก้ว อย่าง Spicy Fifty, Melon Fizz และ Breakfast Martini เป็นต้น โดยเฉพาะเจ้าBreakfast Martiniนี่ที่มาน่าสนใจ ว่ากันว่ามันถูกคิดค้นขึ้นไม่นานมานี้ในช่วงปี90s ตอนที่เขาทำงานอยู่ที่ Library bar ในโรงแรมหรู The Lanesborough hotel ใกล้ๆกับ Hyde Park corner ตัวSavadoreเองปรกติแล้วจะดื่มแค่กาแฟespressoเป็นอาหารเช้าเท่านั้น แต่วันดีคืนดีภรรยาของเขากลับทำขนมปังปิ้งทาแยมส้ม(marmalade)มาบังคับให้Savadoreกินเป็นอาหารเช้าแทน ทำให้วันนั้นเขาหยิบขวดแยมส้มติดมือไปที่บาร์ด้วย และในที่สุดก็นำแยมส้มหนึ่งช้อนโต๊ะ ไปผสมกับ Gin 50มิลลิลิตร, เหล้า Triple Sec และน้ำส้มคั้นสด อย่างละ12 มิลลิลิตร ออกมาเป็นBreakfast Martiniรสเปรี้ยวหวานอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

แต่ค็อกเทลที่ดังที่สุดของลอนดอนก็คงหนีไม่พ้น Vesper Martini ที่ถึงแม้จะมีน้อยคนรู้จัก Gilberto Preti บาร์เทนเดอร์ตัวจริงผู้คิดค้นสูตรของมันในลอนดอนช่วงปี1950s แต่หลายๆคนกลับจำเครื่องดื่มนี้ได้จากนิยายJames Bondเล่มแรก The Casino Royale นั่นเอง เพราะIan Flemingผู้เขียนนั้นประทับใจค็อกเทลสูตรนี้อย่างมากจนเอาไปใส่ในเนื้อเรื่อง ให้ครั้งหนึ่ง นักสืบ007สุดหล่อได้เข้าไปในบาร์และโชว์เหนือสั่งบาร์เทนเดอร์ให้ผสมค็อกเทลตามใจตน  “เอาGordon’sจินสามส่วน, วอดก้าหนึ่งช็อต, Kina Lillet ครึ่งช็อต, เขย่ากับน้ำแข็งให้ดีจนเย็นเฉียบแล้วเสริฟกับเปลือกเลมอนบางๆ, เข้าใจไหม?” พอบาร์เทนเดอร์เสริฟมาให้ บอนด์ก็พอใจมากและสุดท้ายตั้งชื่อให้ค็อกเทลนี้ตามนักสืบสาว Vesper Lynnที่เขาตกหลุมรักในเรื่องนั่นเอง ซึ่งเมื่อนิยายนี้ถูกตีพิมพ์ สูตรค็อกเทลดังกล่าวถูกวิภาษณ์วิจารณ์อย่างมากด้วยเหตุผลสามข้อคือ 1.ปกติแล้วคนชงจะไม่ผสมจินและวอดก้าเข้าด้วยกัน 2.ถ้าค็อกเทลมีจิน คนชงมักไม่เขย่าเพราะจะทำให้รสชาติของจินเสีย และ3. Kina Lillet(เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อเป็นLillet Blanc)เป็นส่วนผสมที่แปลกเพราะคนส่วนมากจะเลือกใช้ Dry vermouth แทน

 ส่วนตัวผมเองถึงจะไม่เคยอ่านนิยาย เจมส์ บอนด์ แต่พอได้จิบค็อกเทลรสเข้ม แถมถูกล้อมรอบไปด้วยสาวสวยในชุดกระต่าย ก็รู้สึกเท่ห์เหมือนักสืบสายลับในหนังสือ007ได้ไม่ยากเลย

สรุปว่าคืนนั้นก็จัดเต็มไปหลายแก้วจนเช้า โชคดีทีสามารถลงบิลในชื่อคุณเพื่อนไว้ได้ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินซักบาท ไม่งั้นมีหวังกระเป๋าฉีกแบบไม่ต้องสืบแน่ๆ

Wednesday, 28 May 2014

Paul Smiths ; สุภาพบุรษสุดแนว

 


ขณะที่ “แฟชั่นรักชาติ” กำลังระบาดทั่วเมืองไทย มีทั้งการคาดธงชาติ ใส่เสื้อสีหรือพิมพ์คำสโลแกนแสดงจุดยืนทางการเมืองมากมาย ทำให้ผมกลับนึกไปถึงแบรนด์หนึ่งของอังกฤษที่จับเอาอัตลักษณ์ของชาติมาเป็นจุดขายได้อย่างน่าสนใจ  ส่งให้เสื้อสูทและเสื้อเชิ้ตของเขาเป็นที่หมายปองของหนุ่มๆแฟชั่นนิสต้าทั่วโลก (รวมถึงตัวผมเองด้วย…ถึงแม้ปัจจุบันจะมีปัญญาซื้อแค่กางเกงในก็ตาม) แบรนด์ที่ว่านี้ก็คือ Paul Smith นั่งเอง

รู้ไหมว่า จริงๆแล้วคุณพอลเจ้าของแบรนด์ ตอนเด็กๆไม่เคยคิดอยากที่จะเข้าวงการแฟชั่น  แต่เขาอยากจะเป็นนักปั่นจักรยานระดับโลก! เสียดายที่ตอนอายุสิบเจ็ดปีเขาดันประสบอุบัติเหตุทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาลและบอกลาความฝันดังกล่าวไปอย่างถาวร ตอนนั้นเขาต้องพักฟื้นรักษาตัวเป็นเวลาหกเดือน นานจนได้มีเพื่อนใหม่ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบแถวๆนั้น ลากพอลเข้าไปอยู่ในสังคมสร้างสรรค์ ทำให้เขามีความสนใจในแฟชั่นแล้วตัดสินใจลงเรียนภาคค่ำวิชาตัดสูทที่ Notthinghamshire ในที่สุดได้ไปทำงานให้กับร้าน Lincroft Kilgour บนถนนSavile Row ซึ่งเป็นถนนขึ้นชื่อด้านการตัดชุดบุรุษที่เนี้ยบที่สุดในโลก ต่อมาปี1969เข้าได้เจอกับภรรยาของเขา Pauline Denyer ผู้สนับสนุนให้พอลล์เปิดร้านของตัวเอง และเริ่มตัดเย็บเสื้อผ้ายี่ห้อของตัวเองขายด้วย โดยมีจุดเด่นโดยใช้ความปราณีตของการตัดเย็บขนบอังกฤษ มาผสมกับรายละเอียดสุดจี๊ดจากวัฒนธรรมร่วมสมัย ทำให้เสื้อผ้าของพอลได้รับนิยมอย่างกว้างขวาง แต่สิ่งที่ทำให้แบรนด์ของเขาติดตลาดคือการใส่อารมณ์ขันและความเท่ห์แบบวิถีอังกฤษเข้าไปในทุกๆอณู ตั้งแต่การบริหารแบบบ้านๆ(บริษัทของเขาไม่เคยขอเงินกู้จากธนาคาร), แคมเปญการตลาดป่วงๆสวนกระแส, ไปจนถึงการแต่งช็อปแบบรกๆตามใจฉันเหมือนร้านขายของชำเก่า
“ผมไม่เคยประนีประนอมเรื่องร้าน,” พอลกล่าว “มันเต็มไปด้วยของมากมายที่ตอนแรกๆคนไม่สนใจ ไม่มีใครเห็นคุณค่า แต่ต่อมาเรื่อยๆพวกเขาจึงเริ่มเข้าใจมัน ดังนั้นมันเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องยึดมั่นกับอุดมการณ์ของเรา ถึงลับหลังเราอาจจะต้องไปทำอย่างอื่นเพื่อหาเงินจ่ายค่าเช่าบ้านพลางๆก็ตาม”


ที่สตูดิโอของพอลในย่าน โคเวนท์ การ์เดน ก็มีเพียงบนโต๊ะrosewoodขนาดใหญ่หนึ่งตัวเท่านั้นที่ว่างๆปราศจากความรก ส่วนพื้นที่อื่นๆของออฟฟิศทุกตารางนิ้วนั้นอัดแน่นไปด้วยสมุดหนังสือ,จักรยาน,หุ่นยนต์ของเล่น,กระต่าย,จดหมาย,ใบเสร็จ และของกระจุกกระจิกมากมาย โดยพอลบอกว่าห้องนี้เปรียบเสมือนสมองของเขาที่เก็บสิ่งต่างๆไว้ต่อยอดไอเดียออกแบบในงานของเขา “ถ้าเราตั้งใจมองรอบๆตัวเรา เราจะสามารถเจอแรงบันดาลใจได้จากสิ่งต่างๆมากมาย และไม่จำเป็นต้องไปก็อปปี้จากใครอื่น” นอกจากนี้พอลยังบอกว่า ลอนดอน เป็นเมืองโปรดของเขาเพราะแต่ละย่านที่ประกอบเป็นเมืองนี้ ล้วนมีลักษณะที่ี่โดดเด่นและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง “คุณจะสามารถเห็นได้ว่า ในลอนดอนนั้น “ความเก่า” เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของ “ความใหม่” และมันน่าตื่นเต้นมากๆที่ได้เห็นสถานที่หนึ่งสามารถเปลี่ยนแปรอยู่ตลอดเวลาในขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ด้วย” หนึ่งในสัญลักษณ์ของการผสมผสานนี้อยู่ในลายริ้วหลากสีอันเป็นเอกลักษณ์ยอดนิยมของยี่ห้อ Paul Smith ซึ่งได้แรงบันดาลใจมากจากใยผ้าทอนั่นเอง นอกจากนี้เรายังสามารถเห็นไลฟ์สไตล์ของพอลในคอลเล็คชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่ายของเขาที่เอามาพิมพ์บนผ้า,สีสันจากตลาด Portabello Market, ภาพการ์ตูนที่เขาชื่นชอบ, รูปทรงของจักรยาน, ไปจนถึงลายพิมพ์และวิธีปักผ้าจากประเทศต่างๆที่เขาได้ไปเที่ยวมา ทั้งหมดนี้ถูกจับผสมรวมกันด้วยการตัดเย็บแบบคลาสสิคอังกฤษ กลายเป็นเสื้อผ้าที่ทั้งเท่ห์และสนุก แถมเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมร่วมสมัยของอังกฤษอย่างไม่หยุดนิ่ง  ปฏิรูปความน่าเบื่อของชุดลำลองตามแบบแผนมาตรฐานไปโดยสิ้นเชิง

ปัจจุบันมีร้าน Paul Smith อยู่มากกว่าสามร้อยสาขาทั่วโลก มีญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่ที่สุดและครองสี่สิบเปอร์เซนต์ของส่วนขายทั้งหมด และได้ขยายภาพลักษณ์ไลฟ์สไตล์สุดคูลไปเกินขอบเขตของเสื้อผ้าในแบรนด์ตัวเอง โดยพอลได้ไปร่วมออกแบบให้กับสินค้าiconicต่างๆ อาธิเช่น เสื้อRaphaสำหรับการแข่งปั่นจักรยาน Tour de France, เฟรมจักรยาน Stelton, ขวดน้ำแร่Evian, กล้องLeica, ไปจนถึงผลิตพันธ์ที่เป็นอังกฤษจ๋า อย่างรถmini, ขวดซอสHP, แผ่นเสียงไวนิลของDavid Bowie และแสตมป์สำหรับงานกีฬาโอลิมปิคปี2012 เป็นต้น ส่วนในคอลเล็คชั่นของเขา พอลก็นำงานของศิลปินระดับชาติของอังกฤษอย่าง Henry Moore, Craigie Aitchison และ Alan Aldridge มาพิมพ์บนผลิตพันธุ์, จัดงานแฟชั่นโชว์ที่หอศิลป์แห่งชาติ Tate Britian พร้อมๆกับเขียนบล็อค สนับสนุนนักออกแบบท้องถิ่นรุุ่นใหม่ๆอย่างAgi&Sam และจัดนิทรรศการใหญ่ที่ Design Museum อธิบายถึงวิธีคิดและแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักภาพแบรนด์อังกฤษที่ใช้เอกลักษณ์ของตัวเองมาเป็นจุดขายได้อย่างประสบความสำเร็จ แถมยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและกระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่มีวัตถุดิบเป็นวัฒนธรรมของชาติ
จนพอลถึงกับได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นอัศวินจากพระราชินีElizabeth ได้คำนำหน้าชื่อเป็น “Sir” Paul Smith!

 “สายตาของผมมองสิ่งต่่างๆไม่เคยหยุดนิ่งไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหนในโลก อย่างไรก็ดีผมตรรหนักถึงความเป็นอังกฤษของมุมมองผม และนึกอยู่เสมอว่าตัวเองเป็นเหมือนฑูตวัฒนธรรมอังกฤษของโลกใบนี้” พอลกล่าว

นี่ซิ “แฟชั่นรักชาติ” ของจริง!

นิทรรศการ HELLO, MY NAME IS PAUL SMITH เปิดให้เข้าชมแล้วที่ Design Museum London ตั้งแต่วันนี้ถึง 9 มีนาคม 2014 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://designmuseum.org 

Mind the Gap สถานี ที่รัก

 
“Mind The Gap, please” ประโยคสั้นๆ แต่แปลเป็นไทยโดยMRTบ้านเราได้ยาวเฟื้อยว่า  “ท่านผู้โดยสารโปรดระมัดระวังขณะก้าวออกจากรถ” ถือเป็นประโยคที่เราได้ยินกันบ่อยๆจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันคนกรุงเทพฯ แต่มีใครเคยคิดไหมว่า เสียงเตือนธรรมดาๆนี้อาจมีความหมายเป็นพิเศษสำหรับใครบางคน?

ที่ลอนดอนมีเรื่องเกิดขึ้นเป็นข่าวใหญ่ไม่นานมานี้ เมื่อหญิงหม้ายวัย65 ยื่นเรื่องขอร้องทางคมนาคมของลอนดอน (Transport of London)ให้เก็บเสียงพูด “Mind The Gap, please” แบบดั้งเดิมณ สถานี Embankment ไว้ หลังจากที่รถไฟใต้ตินทำการพัฒนาเปลี่ยนระบบเครื่องเสียงใหม่ในปีที่แล้ว โดยให้เหตุผลว่า เจ้าของเสียงตามสายนั้นคืออดีตสามีของเธอที่ล่วงลับไปนั่นเอง “ถ้าเป็นไปได้ ดิฉันพยายามจะเลือกเส้นทางที่ผ่านสถานีนี้เสมอ เพราะทุกๆครั้งที่ได้ยินเสียงเขา มันทำให้ดิฉันมีความสุข…เสียงประกาศนี้อยู่คู่กับสถานีนี้มา40ปี แต่ในเดือนพฤจิกายนที่ผ่านมา ดิฉันกลับต้องรู้สึกใจหายเมื่อทางสถานียุติการใช้เสียงของเขา จนคิดว่าตัวเองต้องทำอะไรสักอย่าง” คุณ Margaret McCollum อดีตภรรยาของ Oswald Laurence นักแสดงเจ้าของเสียงประกาศในสถานี ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมไปถึงสำนักงานข่าวระดับประเทศอย่าง BBC จนสุดท้ายหนังสือคำร้องของเธอได้ไปถึงนายสถานีและทางผู้บริหารการคมนาคมได้ออกมาแถลงข่าวใหญ่โตว่า พวกเขาก็เห็นใจเธออย่างมาก และจะจัดหาช่างซ่อมเครื่องเสียงมากู้เทปเสียงของ Oswald Laurence ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ที่สถานีอีกครั้ง!

ในชั่วข้ามคืนเรื่องรักน้อยนิดนี้กลับเรียกกระแสความนิยมให้กับการรถไฟของลอนดอนได้อย่างท่วมท้น แต่หากสังเกตุดีๆ กลยุทธเรียกคะแนนเสียงโดย “การใส่ใจกับรายละเอียด” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะส่วนประกอบยิบย่อยของระบบขนส่งที่นี่ล้วนถูกดีไซน์มาแล้วอย่างดี เริ่มตั้งแต่แผนที่ Tube map  มีเวอร์ชั่นมาตรฐานอันแรกออกแบบโดยนายสถานี Harry Beck โดยมีคอนเซปท์ง่ายๆว่า ผู้คนที่ใช้รถใต้ดินมักจะไม่รู้สึกถึงระยะทางระหว่างสถานีอยู่แล้ว แผนที่รถไฟจึงไม่จำเป็นต้องแสดงระยะการเดินทางตามความเป็นจริง(distance) แค่ตัดทอนให้เห็นเฉพาะเส้นทาง(direction)ก็พอ ซึ่งแนวคิดนี้ก็กลายเป็นต้นแบบของแผนที่รถไฟฟ้าทั่วโลก และ การรถไฟลอนดอนยังบุกเบิกแนวคิดการใช้ศิลปะในสถานีขนส่งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่20 โดยเฉพาะในปี1908 ทางการรถไฟริเริ่มว่าการจ้างศิลปินให้วาดภาพท่องทุ้ง, แหล่งช็อปปิ้ง ไปจนถึงโฆษณากิจกรรมสำคัญๆของเมือง รวมอยู่ในแผ่นโปสเตอร์ของการรถไฟ เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนใช้รถไฟและเป็นสันทนาการแก่ให้ผู้โดยสารอีกด้วย โดยไอเดียนี้ก็ยังส่งต่อมาถึงยุคปัจจุบัน ในรูปแบบของแกลเลอรี่ศิลปะใต้ดิน, การเชิญศิลปินชื่อดังมาออกแบบแผ่นพับแจกฟรี เป็นต้น นอกจากนี้เขายังให้ความสำคัญกับการจำกัดมลพิษทางเสียงในแต่ละสถานี ดังนั้นในแต่ละขบวนรถจะไม่มีการเปิดโฆษณาเสียงดังกรอกหูผู้โดยสาร หรือแม้กระทั้งนักดนตรีเปิดหมวก(busker)ที่มาแสดงพร้อมรับบริจาคเงินในแต่ละสถานี ก็จะต้องถูกทดสอบและคัดเลือกมาก่อน ว่ามีความสามารถและแนวดนตรีไม่หนวกหูหรือสร้างความเครียดให้กับผู้โดยสาร ถึงจะได้ใบอนุญาติให้แสดง

กล่าวคือ เขาไม่ได้ดูแลแค่ระบบการโดยสาร แต่ยังใส่ใจกับ “ประสบการณ์” ของผู้โดยสารขณะเดินทางอีกด้วย


เพราะในความเป็นจริง ขอบอกเลยว่ารถไฟของลอนดอนนั้น มาบ้างไม่มาบ้าง เปลี่ยนเส้นทางการเดินรถกลางคัน หรือปิดปรับปรุงทั้งสายเลยก็มี เอาแน่เอานอนไม่ได้ ผู้โดยสารต้องคอยดูป้ายประกาศว่าวันนี้ใช้สถานีไหนได้บ้าง เป็นที่เอือมระอาของประชากรชาวเมืองยิ่งนัก ทาง Transport of London จึงต้องทยอยเข็นลูกเล่นใหม่ๆมาเอาใจผู้เดินทางอยู่เสมอ ยิ่งปี 2013 นี้ ถือเป็นปีครบรอบ150ขวบของระบบรางใต้ดินในลอนดอน (ในวันที่ 9 มกราคา ปี1863 รถไฟขบวนแรกวิ่งจากสถานี Paddington ไปถึงสถานี Farringdon ถือเป็นการวิ่งของรถไฟใต้ดินสาธารณะขบวนแรกของโลก) ทางการรถไฟก็เตรียมขบวนกิจกรรมสร้างเสริมสายสัมพันธ์ของผู้โดยสารกับการคมนาคม อาธิเช่น บูรณะรถรางโบราณมาให้นั่ง, ตั้งป้ายอนุญาตให้กอดนายสถานีฟรี, ออกชุดหนังสือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของรถไฟแต่ละสาย, และยังมีเปิดนิทรรศการภาพศิลปะจากสถานี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์การขนส่งลอนดอน (London Museum of Transport) ซึ่งทุ่มทั้งงบทั้งไอเดียจนขึ้นชื่อเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่สนุกที่สุดของประเทศอีกด้วย

แน่นอนว่าการสร้างระบบบริการให้กับเมืองใหญ่ มีผู้โดยสารโดยเฉลี่ยสามล้านคนต่อวันไม่ใช่เรื่องง่าย การที่จะทำให้ทุกๆคนพอใจในระบบเดียวกันยิ่งยากไปใหญ่ แต่รถไฟที่ลอนดอนก็สอนให้เรารู้ว่าการใส่ใจกับเรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ช่วยเรียกความรู้สึกดีๆ ลบเลือนความเบื่อหน่ายไปได้มากทีเดียว

ใครจะรู้ ต่อไปรัฐบาลไทยอาจจะเอาวิธีนี้มาเรียกคะแนนนิยมให้”รถไฟขนผัก”ในอนาคตก็เป็นได้…

Thursday, 13 March 2014

The School of Rebels : ผมเป็นเด็ก เซนต์ มาร์ติน


­­­
ผมยังจำวันแรกที่มหาลัยได้ดี 
วันนั้นผมสวมรองเท้าPaul Smithsสีขาว  แจ็กแก็ตลายดอกคลุมตัวที่ชุ่มเหงื่อถึงแม้อากาศข้างนอกจะแค่ห้าองศา  มันอาจเป็นความตื่นเต้นจากสิ่งแวดล้อมใหม่  หรือ จากความโกลาหลวุ่นวายของนักเรียนเกือบพันคน ที่อัดแน่นกันอยู่ในทางเดินแคบๆของตึกเก่าบนSouthampton Row  หลายคนถือแฟ้มผลงานขนาดใหญ่  มีสีผมแสนเปรี้ยวแสบตา ไปจนถึงเสื้อผ้าอันแปลกประหลาด คุยกันเสียงดังถึงไอเดียและแรงบันดาลใจของแต่ละคน...
สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมรวมกัน กลายเป็นบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกว่า "อะไรก็เกิดขึ้นได้"....
หรือนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นความเป็น "กบฏ" ของเด็กเซนต์ มาร์ติน?


ผมสอบติดมหาวิทยาลัยด้านศิลปะและการออกแบบ Central Saint Martins ในเมืองลอนดอนไม่กี่ปีที่แล้ว  แต่ถ้าจะย้อนไปพูดเรื่องจุดเริ่มความเป็นกบฏของสถาบันนี้ ต้องท้าวความไปกว่าสองร้อยปี เมื่อศิลปินและนักสังคมนิยม William Morris ผู้ริเริ่ม Art & Crafts movement ปลุกระดมให้นักออกแบบหันกลับมาใช้รูปทรงจากธรรมชาติและงานฝีมือ สวนกระแสกับยุคสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรม(Industrial Revolution) ในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่19 ประกอบกับการปฏิรูปแนวคิดที่ต้องการให้ศิลปะสามารถเข้าถึงได้จากคนทุกชนชั้น ผลักดันรัฐให้เปิด “สถาบันชนชั้นแรงงาน” ที่สอดแทรกสุนทรียศาสตร์เข้าไปในงานออกแบบทุกชนิด เกิดเป็นมหาวิทยาลัย London’s Central School of Arts and Crafts ในปี 1896 และรวมตัวกับ Saint Martins School of Art กลายเป็น Central Saint Martins ในปี1989 นับจากวันนั้นถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนี้ยังคงความสวนกระแสและผ่าเหล่ามาตลอด เห็นได้จากนิสิตชื่อดังที่จบออกมา ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบแฟชั่น Alexander McQueen, ศิลปินคู่ Gilbert and Gorge  รวมทั้ง Malcolm McLaren บิดาแห่ง Punk ในยุค80s ผู้ก่อตั้งวงขวางโลกอย่าง The Sex Pistols  จะเห็นได้ว่าไอเดียของพวกเขาล้วนแปลกประหลาดท้าขนบ แต่ก็ประสบความสำเร็จและกลายเป็นผลงานผลิกเปลี่ยนโฉมหน้าของวัฒนธรรมอังกฤษทั้งสิ้น

แปลว่า ความเป็น"กบฏ" คือสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์?

ในประสบการณ์ของผม ความเปิดกว้างของเซนต์ มาร์ตินทำให้ผมกล้าที่จะกล้าลองผิดลองถูก  กล้าที่จะแหกคอก ทำงานแบบห่ามๆตั้งแต่เทสีแดงลงบนตัวแล้วกลิ้งเกลือกเป็นรูปภาพมือเปื้อนเลือดของหมอตำแย ไปจนถึงวาดภาพที่มีนัยยะทางเพศระหว่างคนกับช้างเผือก ซึ่งแทนที่จะโดนเซนเซอร์หรือดุด่า เพื่อนๆและอาจารย์กลับสนับสนุนการตีความของผมอย่างเต็มที่ วิสัยทัศน์ของพวกเราจะไม่ถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด ขอแค่เพียงให้นักเรียนต้องซื่อสัตย์ และกล้าที่จะตั้งคำถามกับเรื่องที่เคยถูกสอนมา ซึ่งบางครั้งต้องโยงไปถึงเรื่องส่วนตัวมากๆ และยากที่จะพูดออกถึง แต่อาจารย์ผู้สอนก็จะมีวิธีเค้นออกมาจนได้ เช่นมีอยู่ครั้งหนึ่ง อาจารย์์เลือกที่จะไปจัดวิชาเรียนในบาร์ แถมซื้อเบียร์เลี้ยงเด็กทุกคน คนละแก้ว ซึ่งตอนเริ่มคาบก็ยังเงียบๆอายกัน แต่พอหมดแก้วปรากฏว่าทุกคนล้วนแสดงความคิดตัวเอง แถมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเต็มที่ เป็นต้น  หรืออีกกรณีที่น่าสนใจคือ มีนักวาดภาพ Jasimmine Yip เขียนสโลแกนเสียดสีหลายมหาวิทยาลัยศิลป์ในลอนดอนอย่างเจ็บแสบ สำหรับเซนต์ มาร์ติน เธอเขียนไว้สองอันคือ CSM:Pretentious Little Shits และ CSM: Lifestyle not Education โดยคำขวัญเหล่านี้ทั้งๆที่มีความหมายรุณแรง แต่ได้ถูกใส่ไปในแพ็ครับน้องใหม่หลายพันชิ้นในปีการศึกษา 2009 จนสุดท้ายทางมหาวิทยาลัยเองก็ออกมาชื่นชมความห้าวหาญของเธอ แถมซื้องานทั้งชุดไว้แสดงที่พิพิธภัณฑ์ของทางสถาบัน ทำให้นักเรียนทุกคนเห็นว่าในที่แห่งนี้ ความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาจะได้รับการตอบรับเสมอ แม้จะเป็น ความคิดชายขอบสุดโต่งก็ตาม

ในวันรับปริญญาของผม บัณฑิตกิตติมาศักดิ์ Jarvis cocker (นักร้องนำวงPulp) กล่าวในสุนทรพจน์ของเขาว่า “สิ่งที่ผมยังคงพกติดตัวมาจากเซนต์มาร์ตินมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่ความรู้จากหนังสือ แต่เป็นมุมมองอันบ้าบิ่นต่างหาก”

อย่างไรก็ดี ไม่ช้าก็เร็ว เหล่าความคิดชายขอบก็จะถูกผลักดันจนไปเป็นกระแสหลัก เหล่ากบฏก็ต่อสู้จนได้รับการยอมรับและกลายเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันที่สุด
เหมือนผมในวันนี้ที่กลับมาโรงเรียนอีกครั้ง สวมPaul Smithsสีขาวคู่เดิม แจ็คเก็ตลายดอกตัวเดิม  แต่เปลี่ยนบทบาทจากนักศึกษาหัวดื้อ กลายมาเป็นครูผู้สอนเสียเองหลังเรียนจบไม่กี่วัน

พอเปิดประตู พบกับเหล่าเด็กวัยรุ่นเกือบสามสิบคน มองผมด้วยสายตาขวางๆ…
คราวนี้ต้องรอลุ้นกันว่าจะลงเอยอย่างไร เมื่อ กบฏ (รุ่นเก่า) เจอ กบฎ (รุ่นใหม่) เสียเอง….