“Mind
The Gap, please” ประโยคสั้นๆ แต่แปลเป็นไทยโดยMRTบ้านเราได้ยาวเฟื้อยว่า “ท่านผู้โดยสารโปรดระมัดระวังขณะก้าวออกจากรถ”
ถือเป็นประโยคที่เราได้ยินกันบ่อยๆจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันคนกรุงเทพฯ
แต่มีใครเคยคิดไหมว่า เสียงเตือนธรรมดาๆนี้อาจมีความหมายเป็นพิเศษสำหรับใครบางคน?
ที่ลอนดอนมีเรื่องเกิดขึ้นเป็นข่าวใหญ่ไม่นานมานี้
เมื่อหญิงหม้ายวัย65 ยื่นเรื่องขอร้องทางคมนาคมของลอนดอน (Transport of
London)ให้เก็บเสียงพูด “Mind The Gap, please” แบบดั้งเดิมณ สถานี Embankment ไว้
หลังจากที่รถไฟใต้ตินทำการพัฒนาเปลี่ยนระบบเครื่องเสียงใหม่ในปีที่แล้ว
โดยให้เหตุผลว่า เจ้าของเสียงตามสายนั้นคืออดีตสามีของเธอที่ล่วงลับไปนั่นเอง
“ถ้าเป็นไปได้ ดิฉันพยายามจะเลือกเส้นทางที่ผ่านสถานีนี้เสมอ เพราะทุกๆครั้งที่ได้ยินเสียงเขา
มันทำให้ดิฉันมีความสุข…เสียงประกาศนี้อยู่คู่กับสถานีนี้มา40ปี
แต่ในเดือนพฤจิกายนที่ผ่านมา
ดิฉันกลับต้องรู้สึกใจหายเมื่อทางสถานียุติการใช้เสียงของเขา
จนคิดว่าตัวเองต้องทำอะไรสักอย่าง” คุณ Margaret McCollum อดีตภรรยาของ Oswald
Laurence นักแสดงเจ้าของเสียงประกาศในสถานี ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
รวมไปถึงสำนักงานข่าวระดับประเทศอย่าง BBC
จนสุดท้ายหนังสือคำร้องของเธอได้ไปถึงนายสถานีและทางผู้บริหารการคมนาคมได้ออกมาแถลงข่าวใหญ่โตว่า
พวกเขาก็เห็นใจเธออย่างมาก และจะจัดหาช่างซ่อมเครื่องเสียงมากู้เทปเสียงของ Oswald
Laurence ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ที่สถานีอีกครั้ง!
ในชั่วข้ามคืนเรื่องรักน้อยนิดนี้กลับเรียกกระแสความนิยมให้กับการรถไฟของลอนดอนได้อย่างท่วมท้น
แต่หากสังเกตุดีๆ กลยุทธเรียกคะแนนเสียงโดย “การใส่ใจกับรายละเอียด”
ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะส่วนประกอบยิบย่อยของระบบขนส่งที่นี่ล้วนถูกดีไซน์มาแล้วอย่างดี
เริ่มตั้งแต่แผนที่ Tube map
มีเวอร์ชั่นมาตรฐานอันแรกออกแบบโดยนายสถานี Harry Beck
โดยมีคอนเซปท์ง่ายๆว่า
ผู้คนที่ใช้รถใต้ดินมักจะไม่รู้สึกถึงระยะทางระหว่างสถานีอยู่แล้ว
แผนที่รถไฟจึงไม่จำเป็นต้องแสดงระยะการเดินทางตามความเป็นจริง(distance) แค่ตัดทอนให้เห็นเฉพาะเส้นทาง(direction)ก็พอ
ซึ่งแนวคิดนี้ก็กลายเป็นต้นแบบของแผนที่รถไฟฟ้าทั่วโลก และ
การรถไฟลอนดอนยังบุกเบิกแนวคิดการใช้ศิลปะในสถานีขนส่งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่20
โดยเฉพาะในปี1908 ทางการรถไฟริเริ่มว่าการจ้างศิลปินให้วาดภาพท่องทุ้ง,
แหล่งช็อปปิ้ง ไปจนถึงโฆษณากิจกรรมสำคัญๆของเมือง รวมอยู่ในแผ่นโปสเตอร์ของการรถไฟ
เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนใช้รถไฟและเป็นสันทนาการแก่ให้ผู้โดยสารอีกด้วย
โดยไอเดียนี้ก็ยังส่งต่อมาถึงยุคปัจจุบัน ในรูปแบบของแกลเลอรี่ศิลปะใต้ดิน,
การเชิญศิลปินชื่อดังมาออกแบบแผ่นพับแจกฟรี เป็นต้น นอกจากนี้เขายังให้ความสำคัญกับการจำกัดมลพิษทางเสียงในแต่ละสถานี
ดังนั้นในแต่ละขบวนรถจะไม่มีการเปิดโฆษณาเสียงดังกรอกหูผู้โดยสาร
หรือแม้กระทั้งนักดนตรีเปิดหมวก(busker)ที่มาแสดงพร้อมรับบริจาคเงินในแต่ละสถานี
ก็จะต้องถูกทดสอบและคัดเลือกมาก่อน ว่ามีความสามารถและแนวดนตรีไม่หนวกหูหรือสร้างความเครียดให้กับผู้โดยสาร
ถึงจะได้ใบอนุญาติให้แสดง
กล่าวคือ
เขาไม่ได้ดูแลแค่ระบบการโดยสาร แต่ยังใส่ใจกับ “ประสบการณ์”
ของผู้โดยสารขณะเดินทางอีกด้วย
เพราะในความเป็นจริง
ขอบอกเลยว่ารถไฟของลอนดอนนั้น มาบ้างไม่มาบ้าง เปลี่ยนเส้นทางการเดินรถกลางคัน
หรือปิดปรับปรุงทั้งสายเลยก็มี เอาแน่เอานอนไม่ได้
ผู้โดยสารต้องคอยดูป้ายประกาศว่าวันนี้ใช้สถานีไหนได้บ้าง
เป็นที่เอือมระอาของประชากรชาวเมืองยิ่งนัก ทาง Transport of London
จึงต้องทยอยเข็นลูกเล่นใหม่ๆมาเอาใจผู้เดินทางอยู่เสมอ ยิ่งปี 2013 นี้
ถือเป็นปีครบรอบ150ขวบของระบบรางใต้ดินในลอนดอน (ในวันที่ 9 มกราคา ปี1863
รถไฟขบวนแรกวิ่งจากสถานี Paddington ไปถึงสถานี Farringdon
ถือเป็นการวิ่งของรถไฟใต้ดินสาธารณะขบวนแรกของโลก)
ทางการรถไฟก็เตรียมขบวนกิจกรรมสร้างเสริมสายสัมพันธ์ของผู้โดยสารกับการคมนาคม อาธิเช่น
บูรณะรถรางโบราณมาให้นั่ง, ตั้งป้ายอนุญาตให้กอดนายสถานีฟรี,
ออกชุดหนังสือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของรถไฟแต่ละสาย,
และยังมีเปิดนิทรรศการภาพศิลปะจากสถานี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์การขนส่งลอนดอน
(London Museum of Transport) ซึ่งทุ่มทั้งงบทั้งไอเดียจนขึ้นชื่อเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่สนุกที่สุดของประเทศอีกด้วย
แน่นอนว่าการสร้างระบบบริการให้กับเมืองใหญ่
มีผู้โดยสารโดยเฉลี่ยสามล้านคนต่อวันไม่ใช่เรื่องง่าย
การที่จะทำให้ทุกๆคนพอใจในระบบเดียวกันยิ่งยากไปใหญ่
แต่รถไฟที่ลอนดอนก็สอนให้เรารู้ว่าการใส่ใจกับเรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ช่วยเรียกความรู้สึกดีๆ
ลบเลือนความเบื่อหน่ายไปได้มากทีเดียว
ใครจะรู้
ต่อไปรัฐบาลไทยอาจจะเอาวิธีนี้มาเรียกคะแนนนิยมให้”รถไฟขนผัก”ในอนาคตก็เป็นได้…
No comments:
Post a Comment