Wednesday, 28 May 2014

Paul Smiths ; สุภาพบุรษสุดแนว

 


ขณะที่ “แฟชั่นรักชาติ” กำลังระบาดทั่วเมืองไทย มีทั้งการคาดธงชาติ ใส่เสื้อสีหรือพิมพ์คำสโลแกนแสดงจุดยืนทางการเมืองมากมาย ทำให้ผมกลับนึกไปถึงแบรนด์หนึ่งของอังกฤษที่จับเอาอัตลักษณ์ของชาติมาเป็นจุดขายได้อย่างน่าสนใจ  ส่งให้เสื้อสูทและเสื้อเชิ้ตของเขาเป็นที่หมายปองของหนุ่มๆแฟชั่นนิสต้าทั่วโลก (รวมถึงตัวผมเองด้วย…ถึงแม้ปัจจุบันจะมีปัญญาซื้อแค่กางเกงในก็ตาม) แบรนด์ที่ว่านี้ก็คือ Paul Smith นั่งเอง

รู้ไหมว่า จริงๆแล้วคุณพอลเจ้าของแบรนด์ ตอนเด็กๆไม่เคยคิดอยากที่จะเข้าวงการแฟชั่น  แต่เขาอยากจะเป็นนักปั่นจักรยานระดับโลก! เสียดายที่ตอนอายุสิบเจ็ดปีเขาดันประสบอุบัติเหตุทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาลและบอกลาความฝันดังกล่าวไปอย่างถาวร ตอนนั้นเขาต้องพักฟื้นรักษาตัวเป็นเวลาหกเดือน นานจนได้มีเพื่อนใหม่ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบแถวๆนั้น ลากพอลเข้าไปอยู่ในสังคมสร้างสรรค์ ทำให้เขามีความสนใจในแฟชั่นแล้วตัดสินใจลงเรียนภาคค่ำวิชาตัดสูทที่ Notthinghamshire ในที่สุดได้ไปทำงานให้กับร้าน Lincroft Kilgour บนถนนSavile Row ซึ่งเป็นถนนขึ้นชื่อด้านการตัดชุดบุรุษที่เนี้ยบที่สุดในโลก ต่อมาปี1969เข้าได้เจอกับภรรยาของเขา Pauline Denyer ผู้สนับสนุนให้พอลล์เปิดร้านของตัวเอง และเริ่มตัดเย็บเสื้อผ้ายี่ห้อของตัวเองขายด้วย โดยมีจุดเด่นโดยใช้ความปราณีตของการตัดเย็บขนบอังกฤษ มาผสมกับรายละเอียดสุดจี๊ดจากวัฒนธรรมร่วมสมัย ทำให้เสื้อผ้าของพอลได้รับนิยมอย่างกว้างขวาง แต่สิ่งที่ทำให้แบรนด์ของเขาติดตลาดคือการใส่อารมณ์ขันและความเท่ห์แบบวิถีอังกฤษเข้าไปในทุกๆอณู ตั้งแต่การบริหารแบบบ้านๆ(บริษัทของเขาไม่เคยขอเงินกู้จากธนาคาร), แคมเปญการตลาดป่วงๆสวนกระแส, ไปจนถึงการแต่งช็อปแบบรกๆตามใจฉันเหมือนร้านขายของชำเก่า
“ผมไม่เคยประนีประนอมเรื่องร้าน,” พอลกล่าว “มันเต็มไปด้วยของมากมายที่ตอนแรกๆคนไม่สนใจ ไม่มีใครเห็นคุณค่า แต่ต่อมาเรื่อยๆพวกเขาจึงเริ่มเข้าใจมัน ดังนั้นมันเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องยึดมั่นกับอุดมการณ์ของเรา ถึงลับหลังเราอาจจะต้องไปทำอย่างอื่นเพื่อหาเงินจ่ายค่าเช่าบ้านพลางๆก็ตาม”


ที่สตูดิโอของพอลในย่าน โคเวนท์ การ์เดน ก็มีเพียงบนโต๊ะrosewoodขนาดใหญ่หนึ่งตัวเท่านั้นที่ว่างๆปราศจากความรก ส่วนพื้นที่อื่นๆของออฟฟิศทุกตารางนิ้วนั้นอัดแน่นไปด้วยสมุดหนังสือ,จักรยาน,หุ่นยนต์ของเล่น,กระต่าย,จดหมาย,ใบเสร็จ และของกระจุกกระจิกมากมาย โดยพอลบอกว่าห้องนี้เปรียบเสมือนสมองของเขาที่เก็บสิ่งต่างๆไว้ต่อยอดไอเดียออกแบบในงานของเขา “ถ้าเราตั้งใจมองรอบๆตัวเรา เราจะสามารถเจอแรงบันดาลใจได้จากสิ่งต่างๆมากมาย และไม่จำเป็นต้องไปก็อปปี้จากใครอื่น” นอกจากนี้พอลยังบอกว่า ลอนดอน เป็นเมืองโปรดของเขาเพราะแต่ละย่านที่ประกอบเป็นเมืองนี้ ล้วนมีลักษณะที่ี่โดดเด่นและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง “คุณจะสามารถเห็นได้ว่า ในลอนดอนนั้น “ความเก่า” เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของ “ความใหม่” และมันน่าตื่นเต้นมากๆที่ได้เห็นสถานที่หนึ่งสามารถเปลี่ยนแปรอยู่ตลอดเวลาในขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ด้วย” หนึ่งในสัญลักษณ์ของการผสมผสานนี้อยู่ในลายริ้วหลากสีอันเป็นเอกลักษณ์ยอดนิยมของยี่ห้อ Paul Smith ซึ่งได้แรงบันดาลใจมากจากใยผ้าทอนั่นเอง นอกจากนี้เรายังสามารถเห็นไลฟ์สไตล์ของพอลในคอลเล็คชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่ายของเขาที่เอามาพิมพ์บนผ้า,สีสันจากตลาด Portabello Market, ภาพการ์ตูนที่เขาชื่นชอบ, รูปทรงของจักรยาน, ไปจนถึงลายพิมพ์และวิธีปักผ้าจากประเทศต่างๆที่เขาได้ไปเที่ยวมา ทั้งหมดนี้ถูกจับผสมรวมกันด้วยการตัดเย็บแบบคลาสสิคอังกฤษ กลายเป็นเสื้อผ้าที่ทั้งเท่ห์และสนุก แถมเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมร่วมสมัยของอังกฤษอย่างไม่หยุดนิ่ง  ปฏิรูปความน่าเบื่อของชุดลำลองตามแบบแผนมาตรฐานไปโดยสิ้นเชิง

ปัจจุบันมีร้าน Paul Smith อยู่มากกว่าสามร้อยสาขาทั่วโลก มีญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่ที่สุดและครองสี่สิบเปอร์เซนต์ของส่วนขายทั้งหมด และได้ขยายภาพลักษณ์ไลฟ์สไตล์สุดคูลไปเกินขอบเขตของเสื้อผ้าในแบรนด์ตัวเอง โดยพอลได้ไปร่วมออกแบบให้กับสินค้าiconicต่างๆ อาธิเช่น เสื้อRaphaสำหรับการแข่งปั่นจักรยาน Tour de France, เฟรมจักรยาน Stelton, ขวดน้ำแร่Evian, กล้องLeica, ไปจนถึงผลิตพันธ์ที่เป็นอังกฤษจ๋า อย่างรถmini, ขวดซอสHP, แผ่นเสียงไวนิลของDavid Bowie และแสตมป์สำหรับงานกีฬาโอลิมปิคปี2012 เป็นต้น ส่วนในคอลเล็คชั่นของเขา พอลก็นำงานของศิลปินระดับชาติของอังกฤษอย่าง Henry Moore, Craigie Aitchison และ Alan Aldridge มาพิมพ์บนผลิตพันธุ์, จัดงานแฟชั่นโชว์ที่หอศิลป์แห่งชาติ Tate Britian พร้อมๆกับเขียนบล็อค สนับสนุนนักออกแบบท้องถิ่นรุุ่นใหม่ๆอย่างAgi&Sam และจัดนิทรรศการใหญ่ที่ Design Museum อธิบายถึงวิธีคิดและแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักภาพแบรนด์อังกฤษที่ใช้เอกลักษณ์ของตัวเองมาเป็นจุดขายได้อย่างประสบความสำเร็จ แถมยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและกระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่มีวัตถุดิบเป็นวัฒนธรรมของชาติ
จนพอลถึงกับได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นอัศวินจากพระราชินีElizabeth ได้คำนำหน้าชื่อเป็น “Sir” Paul Smith!

 “สายตาของผมมองสิ่งต่่างๆไม่เคยหยุดนิ่งไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหนในโลก อย่างไรก็ดีผมตรรหนักถึงความเป็นอังกฤษของมุมมองผม และนึกอยู่เสมอว่าตัวเองเป็นเหมือนฑูตวัฒนธรรมอังกฤษของโลกใบนี้” พอลกล่าว

นี่ซิ “แฟชั่นรักชาติ” ของจริง!

นิทรรศการ HELLO, MY NAME IS PAUL SMITH เปิดให้เข้าชมแล้วที่ Design Museum London ตั้งแต่วันนี้ถึง 9 มีนาคม 2014 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://designmuseum.org 

Mind the Gap สถานี ที่รัก

 
“Mind The Gap, please” ประโยคสั้นๆ แต่แปลเป็นไทยโดยMRTบ้านเราได้ยาวเฟื้อยว่า  “ท่านผู้โดยสารโปรดระมัดระวังขณะก้าวออกจากรถ” ถือเป็นประโยคที่เราได้ยินกันบ่อยๆจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันคนกรุงเทพฯ แต่มีใครเคยคิดไหมว่า เสียงเตือนธรรมดาๆนี้อาจมีความหมายเป็นพิเศษสำหรับใครบางคน?

ที่ลอนดอนมีเรื่องเกิดขึ้นเป็นข่าวใหญ่ไม่นานมานี้ เมื่อหญิงหม้ายวัย65 ยื่นเรื่องขอร้องทางคมนาคมของลอนดอน (Transport of London)ให้เก็บเสียงพูด “Mind The Gap, please” แบบดั้งเดิมณ สถานี Embankment ไว้ หลังจากที่รถไฟใต้ตินทำการพัฒนาเปลี่ยนระบบเครื่องเสียงใหม่ในปีที่แล้ว โดยให้เหตุผลว่า เจ้าของเสียงตามสายนั้นคืออดีตสามีของเธอที่ล่วงลับไปนั่นเอง “ถ้าเป็นไปได้ ดิฉันพยายามจะเลือกเส้นทางที่ผ่านสถานีนี้เสมอ เพราะทุกๆครั้งที่ได้ยินเสียงเขา มันทำให้ดิฉันมีความสุข…เสียงประกาศนี้อยู่คู่กับสถานีนี้มา40ปี แต่ในเดือนพฤจิกายนที่ผ่านมา ดิฉันกลับต้องรู้สึกใจหายเมื่อทางสถานียุติการใช้เสียงของเขา จนคิดว่าตัวเองต้องทำอะไรสักอย่าง” คุณ Margaret McCollum อดีตภรรยาของ Oswald Laurence นักแสดงเจ้าของเสียงประกาศในสถานี ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมไปถึงสำนักงานข่าวระดับประเทศอย่าง BBC จนสุดท้ายหนังสือคำร้องของเธอได้ไปถึงนายสถานีและทางผู้บริหารการคมนาคมได้ออกมาแถลงข่าวใหญ่โตว่า พวกเขาก็เห็นใจเธออย่างมาก และจะจัดหาช่างซ่อมเครื่องเสียงมากู้เทปเสียงของ Oswald Laurence ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ที่สถานีอีกครั้ง!

ในชั่วข้ามคืนเรื่องรักน้อยนิดนี้กลับเรียกกระแสความนิยมให้กับการรถไฟของลอนดอนได้อย่างท่วมท้น แต่หากสังเกตุดีๆ กลยุทธเรียกคะแนนเสียงโดย “การใส่ใจกับรายละเอียด” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะส่วนประกอบยิบย่อยของระบบขนส่งที่นี่ล้วนถูกดีไซน์มาแล้วอย่างดี เริ่มตั้งแต่แผนที่ Tube map  มีเวอร์ชั่นมาตรฐานอันแรกออกแบบโดยนายสถานี Harry Beck โดยมีคอนเซปท์ง่ายๆว่า ผู้คนที่ใช้รถใต้ดินมักจะไม่รู้สึกถึงระยะทางระหว่างสถานีอยู่แล้ว แผนที่รถไฟจึงไม่จำเป็นต้องแสดงระยะการเดินทางตามความเป็นจริง(distance) แค่ตัดทอนให้เห็นเฉพาะเส้นทาง(direction)ก็พอ ซึ่งแนวคิดนี้ก็กลายเป็นต้นแบบของแผนที่รถไฟฟ้าทั่วโลก และ การรถไฟลอนดอนยังบุกเบิกแนวคิดการใช้ศิลปะในสถานีขนส่งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่20 โดยเฉพาะในปี1908 ทางการรถไฟริเริ่มว่าการจ้างศิลปินให้วาดภาพท่องทุ้ง, แหล่งช็อปปิ้ง ไปจนถึงโฆษณากิจกรรมสำคัญๆของเมือง รวมอยู่ในแผ่นโปสเตอร์ของการรถไฟ เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนใช้รถไฟและเป็นสันทนาการแก่ให้ผู้โดยสารอีกด้วย โดยไอเดียนี้ก็ยังส่งต่อมาถึงยุคปัจจุบัน ในรูปแบบของแกลเลอรี่ศิลปะใต้ดิน, การเชิญศิลปินชื่อดังมาออกแบบแผ่นพับแจกฟรี เป็นต้น นอกจากนี้เขายังให้ความสำคัญกับการจำกัดมลพิษทางเสียงในแต่ละสถานี ดังนั้นในแต่ละขบวนรถจะไม่มีการเปิดโฆษณาเสียงดังกรอกหูผู้โดยสาร หรือแม้กระทั้งนักดนตรีเปิดหมวก(busker)ที่มาแสดงพร้อมรับบริจาคเงินในแต่ละสถานี ก็จะต้องถูกทดสอบและคัดเลือกมาก่อน ว่ามีความสามารถและแนวดนตรีไม่หนวกหูหรือสร้างความเครียดให้กับผู้โดยสาร ถึงจะได้ใบอนุญาติให้แสดง

กล่าวคือ เขาไม่ได้ดูแลแค่ระบบการโดยสาร แต่ยังใส่ใจกับ “ประสบการณ์” ของผู้โดยสารขณะเดินทางอีกด้วย


เพราะในความเป็นจริง ขอบอกเลยว่ารถไฟของลอนดอนนั้น มาบ้างไม่มาบ้าง เปลี่ยนเส้นทางการเดินรถกลางคัน หรือปิดปรับปรุงทั้งสายเลยก็มี เอาแน่เอานอนไม่ได้ ผู้โดยสารต้องคอยดูป้ายประกาศว่าวันนี้ใช้สถานีไหนได้บ้าง เป็นที่เอือมระอาของประชากรชาวเมืองยิ่งนัก ทาง Transport of London จึงต้องทยอยเข็นลูกเล่นใหม่ๆมาเอาใจผู้เดินทางอยู่เสมอ ยิ่งปี 2013 นี้ ถือเป็นปีครบรอบ150ขวบของระบบรางใต้ดินในลอนดอน (ในวันที่ 9 มกราคา ปี1863 รถไฟขบวนแรกวิ่งจากสถานี Paddington ไปถึงสถานี Farringdon ถือเป็นการวิ่งของรถไฟใต้ดินสาธารณะขบวนแรกของโลก) ทางการรถไฟก็เตรียมขบวนกิจกรรมสร้างเสริมสายสัมพันธ์ของผู้โดยสารกับการคมนาคม อาธิเช่น บูรณะรถรางโบราณมาให้นั่ง, ตั้งป้ายอนุญาตให้กอดนายสถานีฟรี, ออกชุดหนังสือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของรถไฟแต่ละสาย, และยังมีเปิดนิทรรศการภาพศิลปะจากสถานี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์การขนส่งลอนดอน (London Museum of Transport) ซึ่งทุ่มทั้งงบทั้งไอเดียจนขึ้นชื่อเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่สนุกที่สุดของประเทศอีกด้วย

แน่นอนว่าการสร้างระบบบริการให้กับเมืองใหญ่ มีผู้โดยสารโดยเฉลี่ยสามล้านคนต่อวันไม่ใช่เรื่องง่าย การที่จะทำให้ทุกๆคนพอใจในระบบเดียวกันยิ่งยากไปใหญ่ แต่รถไฟที่ลอนดอนก็สอนให้เรารู้ว่าการใส่ใจกับเรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ช่วยเรียกความรู้สึกดีๆ ลบเลือนความเบื่อหน่ายไปได้มากทีเดียว

ใครจะรู้ ต่อไปรัฐบาลไทยอาจจะเอาวิธีนี้มาเรียกคะแนนนิยมให้”รถไฟขนผัก”ในอนาคตก็เป็นได้…