ท่ามกลางแสงแดดหลงฤดูที่ส่องผ่านทิวไม้ตอนบ่ายแก่ๆ
ผมกับคุณพลอย คณิตา มีชูบท ก้าวเดินกันอย่างเงียบๆ ในโซนตะวันตกของ Highgate
Cemetery
สุสานแห่งนี้เปิดบริการตั้งแต่ปี1893
มาจนถึงปัจจุบัน เป็นที่นอนหลับชั่วนิรันดร์ของผู้คนหลายพันคน
รวมทั้งเหล่าผู้มีชื่อเสียง อาธิ นักปรัชญา Karl Marx, เจ้าพ่อวัฒนธรรมพังค์ Malcolm McLaren และ
ศิลปิน Anna Mahler
โดยหลุมศพทั้งใหม่และเก่าต่างมีดีไซน์และคำจารึกบนหลุม
ซึ่งบ่งบอกถึงตัวตนของผู้ที่ถูกฝังไว้อย่างชัดเจนและน่าสนใจ:
บางหลุมเป็นหินสลักรูปทางศาสนา มีไม้กางเขนหรือเทวดา, บางหลุมเป็นฮวงซุ้ยแบบจีน, บางหลุมเป็นแท่งหินอ่อนสีดำเรียบๆ
ประหนึี่งงานรูปปั้นศิลปะร่วมสมัยใน Tate Modern…
“ถ้าตายไป…หลุมศพของเราจะเป็นยังไงนะ?”
คุณพลอยถามขึ้น
เป็นคำถามที่เราคงไม่ได้ถามกันบ่อยๆ
แต่ผมว่ามันน่าสนใจดี...
เพราะคนในปัจจุบัน
มักหลีกเลี่ยงที่จะพูด(และคิด)ถึง “ความตาย”
ด้วยวิถีความเป็นอยู่สมัยใหม่ที่รวดเร็ว ฟุ้งเฟ้อ ชีวิตจึงกลายเป็นเหมือนนิทาน
และความตายก็กลายเป็นสิ่งไกลตัว…พึงรังเกียจ
น้อยคนนักที่จะตั้งคำถามว่า
เมื่อเรา หรือคนที่เรารัก เดินทางมาถึงบทสุดท้าย (ที่ไม่มี happily forever after)
เราจะรับมือกับมันอย่างไร? เราจะทิ้งอะไรไว้เบื้องหลังเราได้บ้าง?
ผมกับคุณพลอยเป็นเพื่อนร่วมห้องเรียน
สาขา MA Communication Design มหาวิทยาลัย Central Saint Martins
เป็นคณะที่บังเอิญมีคนไทยอยู่กันแค่สองคนทั้งชั้น เราจึงสนิทกันเป็นพิเศษ
ในช่วงแรกๆ
เนื่องจากภาษาอังกฤษที่ยังไม่แข็งแรงนักของเธอ ผมเลยต้องเป็นล่าม
แปลและอธิบายงานของเธอให้อาจารย์และเพื่อนๆฟังเสมอ โดยเธอนั้นมีความสนใจเรื่อง
ความทรงจำ (memory) ต้นไม้ (trees) และเทพนิยาย (fairy tales)
แต่สิ่งเหล่านี้ถูกเชื่อมโยงกันด้วยอะไรและทำไมนั้น
กลับเป็นคำถามที่ยากจะตอบสำหรับเธอ…
จนเวลาผ่านไปร่วมปี
อาศัยการซักถาม(และกดดัน)จากอาจารย์ที่ปรึกษา บวกกับความกล้าหาญที่สูงได้ที่
เธอจึงเริ่มเล่าถึงเรื่องของคุณย่าที่เสียไปเมื่อหลายปีก่อนด้วยโรคมะเร็ง
“ความรักที่คุณปู่มีให้ต่อคุณย่าตลอดช่วงเวลาที่ท่านเริ่มป่วยจนสิ้นใจ
เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานของดิฉัน”
คุณพลอยกล่าวในห้องเรียนพร้อมน้ำตาที่ปริมออกมาเล็กน้อย
“ดิฉันอยากจะเล่าเรื่องความรักของพวกเขา
ที่ยังคงสวยงามแม้ในเวลาอันสิ้นหวังของชีวิต”
นับแต่วันนั้น
เธอเริ่มสร้างชุดผลงานชื่อ “A Garden of Illuminating Existence”
เป็นภาพตัดแปะ(collage) ที่ใช้สิ่งพิมพ์สมัยวิคตอเรี่ยน,
รูปวาดทางการแพทย์และต้นไม้นานาชนิด, ดอกไม้แห้ง ไปจนถึง
รูปภาพเก่าๆของคุณปู่และคุณย่า สร้างออกมาเป็น ทิวทัศน์ภายใน(internal landscape)
ที่ซึ่งรูปทรงของพรรณไม้ ขนานไปกับลักษณะทางกายภาพในร่างกายมนุษย์
เซลส์ต่างๆกลายมาเป็นดอกไม้สีสด ท่ามกลางรูปถ่ายและรูปวาดที่ถูกกรีดตัด
เป็นลายธรรมชาติละเอียดอ่อน เรียงซ้อนกันอย่างมีมิติ
กลายเป็นเสมือนป่าในเทพนิยายอิงชีววิทยา
มีตัวละครต่างๆเล่าเรื่องราวการต่อสู้ที่เจ็บปวดกับเนื้อร้าย และความเหนื่อยล้าทั้งใจกายของคนรอบข้าง
แต่ละชิ้นทวีความสาหัสขึ้นเรื่อยๆ จนถึงชิ้นที่ชื่อ “Six feet under”
ภาพสูงใหญ่กว่าสองเมตร สื่อถึงการยอมแพ้ต่อโรคร้ายของคุณย่าของเธอ
“แม้จะเป็นเรื่องในอดีต
ก็ยังเป็นเรื่องยากมากที่จะนำมาพูดถึง…ยิ่งเวลาเอารูปคุณย่ามาตัดแปะไปด้วยยิ่งลำบากใจ”
คุณพลอยเล่า
“แต่ตอนที่ทำ
ก็รู้สึกเหมือนเป็นการบำบัดแบบหนึ่ง
ทำให้เราได้มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในมุมมองใหม่และเข้าใจมันมากขึ้น
เข้าใจว่าความตายเป็นธรรมชาติ และความตระหนักรับรู้ถึงการมีอยู่มัน
สิ่งนี้เป็นแรงกระตุ้นให้ทำงาน ทำส่ิงที่อยากทำในแต่ละวัน เพื่อที่ว่า
หากเราไม่ตื่นในวันพรุ่งนี้ ก็จะไม่เสียดายหรือเสียใจ”
ต่อมาไม่นานคุณพลอยก็จบการศึกษาปริิณญาโทด้วยคะแนนที่สูงเป็นอันดับต้นๆของคณะ
ผลงานของเธอได้รับความสนใจอย่างมาก
และได้ตีพิมพ์รวมเล่มเคียงข้างนักเขียนชื่อดังอย่าง Stephen King และ Will Self ใน
Granta
หนังสือวรสารชื่อดังจากCambridge วางขายไปทั่วอังกฤษและอเมริกา
โดยมีการจัดงานสัมนาและนิทรรศการเปิดตัวหนังสือเล่มนั้นที่
private club สุดหรูแหงหนึ่งในโซโห บนเวทีวันนั้นมี Michael Salu
ผู้กำกับศิลป์และบรรณาธิการจากสำนักพิมพ์, หนึ่งในสองพี่น้อง Chapman Brothers
ศิลปินสุดห่ามที่พึ่งจัดงานนิทรรศการใน Whitechapel gallery, และ คุณ พลอย
ที่ใส่ชุดสูทสีครีมเรียบๆ
นั่งตอบคำถามและอธิบายผลงานของตัวเองต่อหน้าผู้ฟังนับร้อย
“ดิฉันเห็นว่า
ชีวิตคนเรามีความสวยงามอยู่ในทุกเวลา แม้กระทั่งเวลาที่มืดมนที่สุด”
ทำให้ผมที่นั่งดูอยู่อดปลื้มใจไมได้
ปลื้มในความซื่อสัตย์ต่อตัวเองของศิลปินไทยคนหนึ่ง
ที่กล้าจะถ่ายทอดเรื่องราวส่วนตัวออกมาจากใจจริง
ถึงมันจะเป็นความทรงจำที่หดหู่
แต่ผลสุดท้ายสิ่งนั้นกลับเป็นอารมณ์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
ถึงคุณย่าของเธอจะเสียไปนานแล้ว
แต่เรื่องราวทั้งทุกข์และสุขของคุณย่าก็ยังคงอยู่ในความทรงจำ รวมถึงความตายของท่าน
ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตให้กับเธอ
สิ่งเหล่านี้่ถูกถ่ายทอดจากหััวใจสู่แผ่นกระดาษ ทำให้ผลงานชุดนี้
เป็นทั้งการปลดปล่อยและเยียวยา ให้กับคุณพลอยและคนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์คล้ายกัน
และถึงแม้ภาษาอังกฤษของเธออาจจะไม่สมบูรณ์แบบ
แต่ทุกๆภาพถูกอันแน่ไปด้วยความจริงใจ ความรัก และ ความอาวรณ์ต่อชีวิต
งานของเธอสามารถเป็นที่เข้าใจได้โดยไม่จำเป็นต้องถูกแปลเป็นภาษาใดๆ…
เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์ทุกๆคน
ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน พูดภาษาอะไร เมื่อตายไปแล้ว ต่างไม่สามารถเหลืออะไรไว้บนโลกนี้
ได้นอกจากหินบนหลุมศพ และความทรงจำในหัวใจของคนที่รักเรา เท่านั้นเอง