Tuesday 5 February 2013

Oscar Wilde in souvenir shop ; Oscar Wilde ในร้านขายของที่ระลึก

 เป็นเหมือนกันไหม? ที่เวลาไปนิทรรศการแล้วต้องแวะดูร้านขายของที่ระลึก?

ประมาณว่าหากทุนทรัพย์จะไม่พอจับจองศิลปะชิ้นนั้นๆ  ก็ขอซื้อโปสการ์ด สูจิบัตร พวงกุญแจ กระจุกระจิกอะไรก็ได้ไว้เป็นของต่างหน้าแก้ขัดไปละกัน  แถมบางครั้งของที่ระลึกนั้นมีความสร้างสรรค์(และใช้ได้จริง)มากกว่างานที่ถูกจัดแสดงเสียอีก!
ยกตัวอย่างที่ British Library ซึ่งนอกจากจะเป็นบ้านหลังที่สองของผมช่วงทำวิทยานิพนธ์แล้ว  shopของเขายังเต็มไปด้วยของเก๋ๆจากคอลเล็กชั่นหนังสืออันใหญ่โตมโหฬารติดอันดับต้นๆของโลก  ทั้งภาพพิมพ์จากชุดนวนิยายอมตะ, หนังสือหายาก, แผนที่สมัยก่อน ไปจนถึงของชิ้นเล็กอย่าง ปากกาหัวแร้ง หรือ ชุดคั่งตราประทับพร้อมขี้ผึ้งสีแดงเลือดหมู แต่สินค้าล่าสุดที่ประทับใจผมมากคือ ชุดเทียนหอมและน้ำยาปรับอากาศ รุ่น Ex Libris  (ภาษาละตินแปลว่า “จาก หนังสือ”) โดยกลิ่นของเทียนหอมเหล่านี้ถูกดีไซน์ขึ้นจากลักษณะวรรณกรรมของนักเขียนโปรดของคุณ!  เล่นเอาหนอนหนังสืออย่างผมพิศวงสนเท่ห์ได้ชะงัก ยิ่งกลิ่นแรกที่หยิบขึ้นมาดมนั้นได้รับแรงบันดาลใจจาก Oscar Wilde นักเขียนในดวงใจ พร้อมqouteคำพูดติดข้างกล่องจากเจ้าตัวว่า “ผู้ใดที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างถ่อมตัว จำต้องทุกข์ทนกับจินตนาการที่ขาดแคลน” (Anyone who lives within their means suffers from lack of imagination”) บ่งบอกถึงความหรูหราฟุ้มเฟือยอันเป็นเอกลักษณ์งานเขียนของเขาได้อย่างสะใจ

จริงๆแล้ว Oscar Wilde มีผลงานไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับนักเขียนคนอื่นๆในยุคเดียวกัน  งานเขียนของเขาส่วนมากจะเป็นบทความประชดสังคม, นิทานเรื่องสั้น และ งานประพันธ์บทละคร  แต่Wildeไม่ได้โด่งดังจากงานเขียนเท่านั้น เพราะเขาคือstyle guruคนแรกของโลกตะวันตก ด้วยรสนิยมอันดีเลิศ ประกอบกับตัวตนอันอื้อฉาว และอุมการณ์ที่ชัดเจน(Wildeมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและเผยแพร่ Aesthetic movement) ทำให้เขาเป็นหนึ่งบุคคลสาธารณะที่โด่งดังที่สุดในศตวรรษที่19 นอกจากนี้ ในวันที่20 มิถุนายน ค.ศ. 1890  นิยายเรื่องแรกและเรื่องเดียวของเขาถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Lippincott’s และได้สร้างความแตกตื่นให้แก่ผู้อ่านทั่วประเทศ จนเหล่านักวิจารณ์ต่างออกมาด่าดอความฉาบฉวยและเนื้อหาที่เต็มไปด้วยการบิดเบือนจรรยาบรรณอันดีงามของผู้ดีอังกฤษ นิยายเรื่องที่ว่านั่นก็คือ The Picture of Dorian Gray นั่นเอง

หนึ่งร้อยปีจากวันนั้น ผมได้มีโอกาสอ่านนิยายเรื่องที่ว่า ณ กรุงลอนดอน ที่ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดและฉากหลังของหนังสือทั้งเล่ม และถึงแม้ว่าลักษณะของสถานที่จะแตกต่างไปจากคำบรรยายในหนังสือ (อาธิเช่น Covent garden ที่ในยุคสมัยนั้นถือว่าเป็นแหล่งมั่วสุมสกปรก แต่ปัจจุบัญกลายเป็นที่ตั้งของโรงอุปรากรณ์หลวงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เป็นต้น) แต่ลักษณะของ “อารมณ์” และ “ผู้คน” นั้นยังเหมือนเดิมไม่ผิดเพี้ยน โดยเนื้อเรื่องนั้นเล่าถึง เด็กหนุ่มที่ย้ายเข้ามาในเมืองใหญ่เพื่อเรียนรู้โลกกว้าง ถูกรุมเร้าด้วยแสงสีและกิเลสตัณหา และสิ่งเติมแต่งอันสวยงามฉูดฉาด ล้อมรอบไปด้วยสังคมชั้นสูงที่รักการติฉินนินทา ใส่หน้ากากเข้าหากัน ในเรื่องเขาได้รับของขวัญจากเพื่อนจิตรกรเป็นภาพเหมือนของตน หากแต่ภาพพิศวงนั้นได้เก็บวิญญาณของเขาไว้ ทำให้ชายหนุ่มมีรูปโฉมที่สวยงามอมตะ ส่วนในภาพนั้นรูปเขากลับบิดเบี้ยวสยดสยองมากขึ้นเรื่อยๆตามการกระทำอำมหิตของเขา…
ในจุดนี้ ถึงหน้าตาผมจะไม่ได้งดงามเหมือน Dorian Gray แต่แก่นสารนิยายของเขานั้นโดนใจ เหมือนว่ากำลังอ่านบันทึกของตัวเองในฉากของศตวรรษที่19! อาจเป็นเพราะถึงแม้สิ่งนอกกายเราจะเปลี่ยนไป แต่ธรรมชาติของคนก็ยังคงเป็นไปด้วยความโลภ โกรธ หลง ต้องการที่จะเป็นที่รักใคร่ของคนรอบข้าง และไม่ว่าจะในยุคสมัยใด แสงสีของลอนดอนก็ยังสามารถดึงเอาความดิบนั้นออกมาได้อยู่เสมอ
ปัจจุบันนี้ ทุกๆครั้งที่ผมมองกระจกก่อนออกจากบ้าน ผมมองภาพสะท้อนของตัวเอง ประหนึ่งภาพวาดของ Dorian Gray  พลางพยายามเตือนตัวเองเสมอ ให้ไม่ทำความผิดพลาดซ้ำรอยกับพระเอกในเรื่อง ที่ตอนจบต้องประสบโศกนาฏกรรมจากความผิดบาปของตัวเอง… (ใครอยากรู้ว่าความผิดอะไรต้องลองหามาอ่านดู)



แน่นอนว่าในร้านขายของที่ระลึกนั้นมีเทียนหอมหลายกลิ่น บางคนอาจจะชอบกลิ่นหวานของมะลิและกุหลาบในเทียนของ Jane Austin,  บางคนอาจถูกใจกลิ่นอุ่นๆของต้นสนและก้านพลูจากเทียน Charles Dickens,
แต่สำหรับผมก็คงต้องเสียเงินกับกลิ่นของไม้หอม และเครื่องเทศ อันลี้ลับ,หรูหรา และ มีเสน่ห์ แบบOscar Wilde เป็นปริยาย

ลองคิดว่าถ้ามีเทียนหอมที่ได้แรงบันดาลใจจาก สุนทร ภู่ หรือ ปราบดา หยุ่น กลิ่นของมันจะเป็นอย่างไรนะ?

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของBritish Library ได้ที่ http://www.bl.uk/

No comments:

Post a Comment